กลยุทธ์ ‘ล่าฝัน’ สร้างธุรกิจฉบับเจนวาย

ขึ้นชื่อว่าคนรุ่นใหม่มักชื่นชอบทำหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่เพียงแค่โปรดักส์ “MIDAT” (ไมแดท) สายรัดข้อมือ แต่ผู้ก่อตั้งก็ยังทำธุรกิจอื่น ๆที่ตอบสนองความสนใจส่วนตัวอีกด้วย

 “กฤตย สุขวัฒก์” เป็นเจ้าของแบรนด์ “ไฮแลนส์ เจอร์กี้” เนื้อวัวอบแห้งสไตล์อเมริกัน ส่วน “สุกิจ อมรวชิรวงศ์”ทำสีพิมพ์สกรีนเสื้อผ้า ก็คือ “เอส.เค.คัลเลอร์ แอนด์ เคมีคอล”


เมื่อถามถึงคีย์ซัคเซส สุกิจบอกว่าจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ผ่านมา ยอมรับว่าตอนที่ลงมือทำแรก ๆนั้นก็มักจะกวนกันแบบเละเทะ ไม่มีเพลงดาบหรือกระบวนท่าตายตัวว่าจะต้องนับจากแพลนที่หนึ่งแล้วไปสองไปสาม เพราะบางทีพอแพลนหนึ่งเสร็จก็กระโดดไปสามก่อนแล้วค่อยวกกลับมาที่สอง

 

 


กฤตยมองว่า สำหรับเขานั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ผู้ประกอบการควรต้องมีสกิลหรือทักษะที่รอบด้าน เช่น สุกิจใช้กล้องเป็น ทำเอไอได้ และทำโฟโต้ชอปได้ และสามารถเอามาช่วยในงานมาร์เก็ตติ้งได้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องเสียเงินจ้างและการทำได้เองก็ทำธุรกิจเดินหน้ารวดเร็วขึ้น ง่ายยิ่งขึ้น


แม้ว่าธุรกิจที่ประสบความเร็จนั้นขึ้นกับองค์ประกอบหลายต่อหลายอย่าง อาทิ ทีมงาน ทุน และจังหวะเวลา ขณะที่สุกิจบอกว่าในความเป็นจริงนั้น โดยเฉพาะจังหวะของเวลาและโอกาสจะเป็นสิ่งที่คอนโทรลได้ยากว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่หรือเป็นเวลาที่ใช่หรือไม่


"แต่ไมแดทนั้นมากับจังหวะเวลา และเราก็สนใจอยากทำ แต่ถ้าเราทำกันโดยไม่มีทักษะอะไรเลย มีแค่เงินและความคิดที่อยากทำธุรกิจเฉย ๆ ก็คงทำในลักษณะต้องไปจ้างคนนั้นมาดีไซน์โปรดักส์ หรือไปจ้างคนนี้มาช่วยสร้างแบรนด์ การมีทักษะหรือสกิลน้อยจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจมาก ๆ"


แน่นอนหากต้องใช้เงินจ้างเขียนโปรแกรมหรือดีไซน์โปรดักส์ดีไม่ดีอาจต้องทุ่มเงินทุนเป็นหลักล้านบาท (ไมแดทมีฟาวเดอร์ทั้งหมด 3 คน ก็คือสุกิจ,กฤตยและเพื่อนอีกคนที่เก่งในการเขียนโค้ดดิ้งซึ่งชอบเป็นคนอยู่เบื้องหลัง)


ส่วนในเรื่องของดีมานด์ ความต้องการของตลาดที่ทุกธุรกิจก็ต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน สุกิจบอกว่าตอนที่พวกเขาเริ่มทำในแต่ละธุรกิจก็จะไม่ได้มองไปไกลมาก แค่มองเห็นว่าธุรกิจนี้ โปรดักส์นี้มีคนอยากได้ ทำแล้วมีกำไร ก็จะลงมือทำทันที


"และพอเริ่มทำแล้ว จากนั้นเราจะมองเห็นช่องทางเพิ่มมากขึ้น ว่าทำแบบนั้นแบบนี้ได้อีก บางคนบอกว่าทำไมไม่เห็นมีโอกาสเข้ามาหาเขาเลย จริงๆแล้วเราต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้วโอกาสจะเข้ามาหาเราเองและตอนที่มันเข้ามาเราเองที่อาจทำไม่ทันเสียด้วยซ้ำ"


กฤตยเสริมว่า โอกาสเป็นเรื่องที่มองเห็นง่ายๆและชัดเจน เช่นคู่แข่งมีอยู่น้อย ถ้าทำแข่งก็น่าจะสู้ได้ หรือเป็นธุรกิจที่ตัวเองมีความชำนาญ เป็นอะไรที่อยากทำจริง ๆหรือเปล่า


“การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพ เราต้องมองวันหยุด วันเสาร์ วันอาทิตย์ มันไม่มีตัวตน เพราะไม่ใช่เรามีเงิน มีร้านก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ผมรู้สึกว่าต้องสู้ทุกวัน” ตบท้ายด้วยหลักการของสุกิจ


และเล่าต่อว่า ที่พวกเขาตัดสินใจมาทำไมแดท เพราะมีวันหนึ่งได้เห็นมีคนโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับกำไลคิวอาร์โค้ด ซึ่งเป็นข้อมูลสุขภาพ แล้วก็มีคนกดไลค์ มีคนแชร์เป็นจำนวนมาก


"เราเห็นว่ามันเป็นโปรดักส์ที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ผู้มีโรคประจำตัว ถ้ามีสายรัดในยามฉุกเฉินจะสามารถช่วยชีวิตเขาได้ เราก็คิดว่าอยากทำธุรกิจด้วยในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งๆ ให้กับสังคมด้วย"


ไมแดทแตกต่างจากสายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพแบรนด์อื่นๆ อย่างไร กฤตยยังไม่ตอบแต่มีการจุดไฟแช็คแล้วลนไปตรงสายรัดข้อมือที่พวกเขาผลิตเพื่อโชว์ให้เห็นว่ามันมีความทนทานเพียงไร


"จะเห็นว่ามันทนทานไม่ไหม้ เพราะผมก็คิดจะทำมันให้คุณแม่และคุณยายของผมเองใส่หรือใช้ ดังนั้นก็คงไม่ทำอะไรที่ใช้ไม่ได้ แต่ต้องทำให้ของทนทานที่สุด จึงเป็นการแกะสลักต่างจากของคู่แข่งอื่นๆที่คิวอาร์โค้ดของเขาจะพิมพ์ด้วยสีซึ่งจะลอกหลุดได้ง่ายมาก ซึ่งก็ทำให้ข้อมูลการแพทย์ที่ใส่ไว้สูญหาย และถึงขั้นพังใช้ไม่ได้ ถามว่าถ้าซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพแล้วมันจะช่วยชีวิตเราได้หรือไม่"


ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกบันทึกไว้ก็ต้องอาศัยไปพูดคุยกับหมอแต่ละสาขารวมถึงทีมที่เป็นหน่วยฉุกเฉินที่ไปรับตัวคนเจ็บที่บ้าน หรือที่เกิดเหตุว่าถ้าจะให้ดีหรือมีความครอบคลุมควรต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง


ปัจจุบันผู้สวมใส่สายรัดไมแดทสามารถเก็บข้อมูลที่เป็นโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติการแพ้อาหาร ฯลฯ พร้อมข้อมูลติดต่อของหมอประจำตัว หรือบุคคลที่ต้องการให้ติดต่อในสภาวะฉุกเฉิน เช่น ชื่อ เบอร์โทรและ ความเกี่ยวข้อง โดยผู้ช่วยเหลือจะสามารถสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว


“ก่อนที่เราจะทำเป็นรุ่นแรก เราก็มีสั่งทำเป็นแซมเปิลหลายรุ่น กว่าจะเป็นรุ่นแรกก็ผ่านรุ่นทดลองมา4-5 แบบได้”


สุกิจเล่าต่อว่าจากที่ลอนซ์ไมแดทเวอร์ชั่นแรกออกสู่ตลาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาถึงเวลานี้มียอดขายอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นชิ้น ซึ่งมาจากการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 90% และยังได้พัฒนาเวอร์ชั่นที่สองออกมาแล้วแต่ยังไม่ได้วางจำหน่าย เนื่องจากต้องลองใส่ดูกันเองสักพัก ว่าจะเวิร์คจริงหรือไม่ หรือต้องทำการปรับ แก้ไขตรงไหนอย่างไร


ไมแดทพบเจออุปสรรคอะไรมาบ้าง? กฤตยบอกว่า เพราะยังเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างใหม่ในตลาดเมืองไทย จึงต้องใช้เวลาในการสร้างความรับรู้ และยอมรับ


"ไม่ใช่ว่าคนรู้จักกันดีอยู่แล้วว่ามันเป็นลูกชิ้น เราต้องอธิบายว่ามันคืออะไรก่อน และต้องให้คนรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่เขาน่าจะลอง โดยที่เขาไม่เคยรู้ไม่เคยใช้มันมาก่อน แน่นอนว่าเราต้องเสียเงิน เวลา และทรัพยากรต่างๆไปเพื่อการทำให้คนรู้จัก"


คงเป็นทำนองเดียวกับสินค้าประกันภัย คนที่มองเห็นประโยชน์ก็จะซื้อทันทีเวลามีตัวแทนหรือนายหน้าเข้าไปขายประกันภัยต่าง ๆ ตรงกันข้ามสำหรับคนที่ไม่เห็นความสำคัญก็จะไม่สนใจและอาจไล่ตะเพิดคนขายให้ไปไกลๆ หรือไม่ก็พยายามหาเหตุผลมาโต้แย้ง


สุกิจ บอกว่า พวกเขาวางแผนจะพาไมแดทขยายไปตลาดต่างประเทศเร็วๆนี้ โดยกำลังมองหาพาร์ทเนอร์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งก็มีคุยกันบ้างแล้วที่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่ลงตัว ถามว่าพันธมิตรในฝันเป็นแบบไหน คำตอบก็คือ ถ้าอยู่ในธุรกิจการแพทย์หรือเกี่ยวข้องมีคอนเน็คชั่นกับทางการแพทย์ก็ยิ่งดี หรือถ้าทำบริษัทยาก็จะดีมากเพราะจะมีช่องทางจำหน่าย ซึ่งตลาดเมืองไทยไมแดทก็ใช้โมเดลเดียวกันคือไปจับมือกับบริษัทยาที่ครองตลาดอันดับหนึ่ง อันดับสองของตลาด


แต่ที่แน่ๆ พวกเขาไม่ได้คิดถึงการระดมทุน ไม่คิดเดินบนเส้นทางสตาร์ทอัพ แต่ก็ใช้รายได้จากการขายโปรดักส์ สุกิจมองว่าในการทำธุรกิจ ถ้าวางแผนเป็น ทำอย่างระมัดระวัง ก็คงไม่ได้ใช้ทุนมากมาย


"จริง ๆผมมองไมแดทเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีธรรมดาเลย แต่ก็มีคนมาบอกว่ามันเป็นสตาร์ทอัพ และเมื่อผมไปศึกษาว่าสตาร์ทอัพคืออะไร ก็เลยรู้ว่าถ้าทำเป็นสตาร์ทอัพผมคงนอนไม่หลับ เพราะเราต้องไปเอาเงินนักลงทุนมาใช้และต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังของเขา มันเหมือนเป็นการสู้เพื่อเติมเต็มความคาดหวังของคนอื่น ขณะที่เอสเอ็มอีเป็นการสู้เพื่อตัวเองแต่ถ้ามีใครอยากจะมาลงทุนกับเราก็ยินดี แต่คงต้องมีการพูดคุยกันยาวหน่อย"

 

ที่มา : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 2496

16 มีนาคม 2018