ค่ายรถแห่ผุดโรงงานแบต ยึดอีอีซีรุมขอบีโอไอ “ปลั๊ก-อินไฮบริด”

เปิดแผนค่ายรถทุ่มสุดตัวลุยไฮบริด, ปลั๊ก-อินฯ และอีวี รับเทรนด์โลก หอบเม็ดเงินหลายหมื่นล้านปูพรมโรงงานแบตเตอรี่-ชิ้นส่วน ค่ายญี่ปุ่น-ยุโรป เลือกพื้นที่อีอีซีสนองนโยบายรัฐ เบนซ์ลั่นปีนี้ขยับสัดส่วนกลุ่มรถ อีคิวเกินครึ่งของตลาด “โตโยต้า” ลงดาบสองคัมรี่ ไฮบริดต่อจากซี-เอชอาร์ ขณะที่มาสด้าประเดิมมาสด้า3 ไฮบริด กลุ่มนำเข้าอีวีสำเร็จรูปปลื้มทยอยส่งรถใหม่ลงตลาด

กระแสความ นิยมรถยนต์ประหยัดพลังงานและรักษ์โลกยังแรงต่อเนื่อง ต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประกาศผู้ประกอบการ 5 รายขอรับส่งเสริมการลงทุนกลุ่มรถยนต์ไฮบริดตามกรอบเวลาก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ซึ่งประกอบด้วยค่ายโตโยต้าใช้เม็ดเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ตามมาด้วยค่ายนิสสันขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 10,960 ล้านบาท ใช้โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด กำลังผลิต 80,000 คันต่อปี

ค่ายมาสด้าขอรับส่งเสริมด้วยมูลค่าลงทุน 11,4000 ล้านบาท ใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง ผลิตรถยนต์มาสด้า กำลังผลิต 120,000 คันต่อปี ค่ายฮอนด้าขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี กำลังผลิตที่ 37,000 คันต่อปี และค่ายซูซูกิขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ด้วยกำลังผลิต 12,000 คันต่อปี

ยุโรปลุยปลั๊ก-อินไฮบริด

แหล่ง ข่าวในวงการผู้ผลิตรถยนต์เปิดเผยว่า ล่าสุดยังมีผู้ประกอบการจากค่ายยุโรปอีก 3 รายขอรับการส่งเสริมในกลุ่มรถยนต์ประเภทปลั๊ก-อินไฮบริด (เสียบปลั๊กชาร์จไฟ) ประกอบด้วยเมอร์เซเดส-เบนซ์ มูลค่าการลงทุน 600 ล้านบาท ใช้โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สมุทรปราการ กำลังผลิต 8,000 คันต่อปี ค่ายใบพัดสีฟ้าบีเอ็มดับเบิลยูขอรับการส่งเสริมมูลค่า 705 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง กำลังผลิต 100,000 คันต่อปี และค่ายเอ็มจี ซึ่งเป็นรถยนต์สัญชาติอังกฤษขอรับการส่งเสริมมูลค่า 1,030 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี กำลังผลิตที่ 7,000 คันต่อปี

ทุ่มผุด รง.แบตเตอรี่

ทั้งนี้ เริ่มเห็นความชัดเจนของแต่ละค่ายมากขึ้น ประเดิมจากการจับมือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์พร้อมทั้งปูพรมผุดโรงงาน แบตเตอรี่ เริ่มจากค่ายโตโยต้าในญี่ปุ่นประกาศจับมือกับพานาโซนิค ตามที่นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโตโยต้า มอเตอร์คอร์ป ยอมรับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญอุปสรรคมากมายในการพัฒนาแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ในอนาคต ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา โตโยต้าและพานาโซนิคจึงได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันในการพัฒนา แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนสำหรับรถยนต์อีวี

 

ตามมาด้วยค่ายเมอร์เซ เดส-เบนซ์ นายไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรใช้เม็ดเงิน มากกว่า 100 ล้านยูโร ขยายโรงงานผลิตและตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย เป้าหมายมุ่งผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานแบตเตอรี่ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 6 ซึ่งเบนซ์มีใน 3 ทวีป เริ่มผลิตได้ปี 2562 การลงทุนเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียว ๆ (battery electric vehicle-BEV)

“แนวรุกตลาดของเบนซ์จากนี้จะพุ่ง เป้าไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้แบรนด์เทคโนโลยี EQ-Electric Intelligence by Mercedes-Benz และภายในปีนี้สัดส่วนรถกลุ่มนี้จะพุ่งสูงถึง 50% ของยอดขาย”

ขณะที่ค่ายบีเอ็มดับเบิลยู มีข้อมูลว่าได้ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 400 ล้านบาท รองรับรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริดโดยจะตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ ในเขตพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี

ทั้งนี้ก่อนหน้า นี้นายเจฟฟรีย์ กอดิอาโน กรรมการผู้จัดการและประธานบริหาร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์หนึ่งในเสาหลักของบีเอ็มดับเบิลยู คือการเดินหน้าไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า และโรงงานในประเทศไทยถือเป็นโรงงานที่มีศักยภาพและเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ดังกล่าว ปัจจุบันโรงงานที่นิคมอมตะ ระยอง ผลิตรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด 4 รุ่น ได้แก่ ซีรีส์ 3, 5, 7 และเอ็กซ์ 5 และก้าวต่อไปคือการเตรียมความพร้อมสำหรับแบตเตอรี่แรงดันสูง พร้อมด้วยเทคโนโลยีลํ้ายุคอื่น ๆ ภายในปี 2562

นิสสันเอาแน่รถไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากการลงทุนด้านชิ้นส่วนและแบตเตอรี่แล้ว ยังมีกลุ่มผู้ผลิตบางส่วนนำร่องบุกรถยนต์อีวี โดยช่วงแรกใช้วิธีนำเข้ามาจำหน่ายก่อน อาทิ ค่ายนิสสัน พร้อมนำรถยนต์ไฟฟ้า 100% อย่างนิสสัน ลีฟ เจเนอเรชั่นใหม่ ซึ่งปิดตัวที่ญี่ปุ่นช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วเข้ามาทำตลาดในปีนี้

“เราพร้อมขายนิสสัน ลีฟในประเทศไทย ภายในปีงบประมาณ 2561 อย่างแน่นอน” นายอันตวน บาร์เตส บอสใหญ่นิสสันไทยแลนด์กล่าว

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนความคืบหน้านิสสันโน๊ต อี-เพาเวอร์ ถูกบีโอไอกำหนดให้ไปอยู่ในหมวดรถยนต์ไฮบริด ซึ่งนิสสันกำลังทยอยรถรุ่นนี้ลงตลาดด้วยเช่นกัน

โตโยต้า-มาสด้า ถล่มไฮบริด

แหล่งข่าวฝ่ายบริหารโตโยต้า ระบุถึงความคืบหน้าโครงการรถยนต์ไฮบริดที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอมูลค่า 2 หมื่นล้านว่า ขณะนี้ส่งรถรุ่นแรกลงตลาดไปแล้ว ได้แก่ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด โดยใช้โรงงานผลิตเกตเวย์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งโรงงานนี้มีกำลังผลิตสูงถึง 300,000 คันต่อปี พร้อมปรับยืดหยุ่นได้ตามความต้องการของตลาด และโมเดลถัดไปจะเป็นโตโยต้า คัมรี่ ไฮบริด รวมถึงโมเดลอื่นในอนาคต

เบื้องต้นโตโยต้าลงทุนพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์และแบตเตอรี่เพื่อรับตลาดเกิดใหม่กลุ่ม รถยนต์ไฮบริด รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้กับโปรดักต์เกือบทุกตัว เพื่อเป็นมาตรฐานของยานยนต์ในอนาคต เน้นไปที่ 4 กลุ่มหลัก คือ 1.ระบบไฮบริดเจเนอเรชั่นใหม่ 2.นวัตกรรมโครงสร้างใหม่ TNGA (Toyota New Global Architecture) ระบบความปลอดภัยใหม่มาตรฐานระดับโลก และระบบนำทางและเชื่อมต่อผู้ขับขี่กับรถยนต์ (Toyota T-connect Telematics) นอกจากนี้โตโยต้ายังได้ใช้เงินลงทุนมูลค่า 200 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการสร้างโรงงานกำจัดซากแบตเตอรี่ ในเขตพื้นที่อีอีซีอีกด้วย

เช่นเดียวกับนายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวยอมรับว่า มาสด้ามีแผนลงทุนในปี 2561 ร่วมมือกับซัพพลายเออร์เกี่ยวกับชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้กับรถยนต์มาสด้าทุก รุ่น และรถยนต์ในกลุ่มไฮบริด ทั้งมอเตอร์ไฟฟ้า, เจเนอเรเตอร์ และอื่น ๆ ซึ่งน่าจะใช้เม็ดเงินอีกมหาศาล

ประกอบด้วยโรงงานมาสด้า พาวเวอร์เทรน เมนูแฟคเจอริ่ง (MPMT) ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ซึ่งมีการลงทุนราว ๆ 7.2 พันล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ใหม่ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบเครื่องยนต์จากไลน์การผลิตเดิม และเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 30,000 เครื่องต่อปีเป็น 100,000 เครื่องต่อปี และเม็ดเงินอีก 11,4000 ล้านบาท สำหรับรถยนต์กลุ่มไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี โดยจะใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง ผลิตรถยนต์มาสด้า กำลังผลิต 120,000 คันต่อปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถยนต์รุ่นแรกที่คาดว่ามาสด้าจะนำเสนอให้กับผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัส คือ มาสด้า3 เครื่องยนต์ไฮบริดโฉมใหม่ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มาสด้ามีอยู่แล้ว และได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น

รถอีวีมาแรง

นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติญี่ปุ่น อย่างฟอมม์ (FOMM) เบื้องต้นบริษัทได้ลงทุนเพื่อเช่าโรงงานขึ้นไลน์ประกอบรถอีวี ฟอมม์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร บนพื้นที่ขนาด 7 ไร่ และมีกำลังผลิตอยู่ที่ 10,000 คันต่อปี และเป็นการเข้าแบตเตอรี่มาเพื่อประกอบในโรงงานแห่งนี้ด้วย โดยรถฟอมม์วันทำตลาดขายราคาพิเศษ 5.99 แสนบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากค่ายรถยนต์ที่มีความพร้อมและความชัดเจนข้างต้นแล้ว ในส่วนของค่ายรถยนต์บางค่ายอย่างเอ็มจีเองนั้น ขณะนี้ก็เริ่มมีการศึกษาและนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดลองวิ่งบนถนนของบ้านเรา เพื่อศึกษาและเก็บรายละเอียด รวมทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นบางรายก็ได้เริ่มมีการ เดินทางไปยังบริษัทแม่เพื่อชี้แจง และนำเสนอข้อมูลความพร้อมในขณะนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงโอกาสและความเหมาะสมของการลงทุน

นอกจากนี้ ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา มีค่ายรถยนต์หน้าใหม่ นำรถยนต์ไฟฟ้ามาโชว์ ทั้งอีเอ หรือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (มหาชน) จำกัด ที่โชว์รถต้นแบบอีวีเมดอินไทยแลนด์ 100% ถึง 3 รุ่น โดยมีแผนขึ้นไลน์ผลิตและจัดจำหน่ายในปี 2562

 

ที่มา : prachachat.net


จำนวนผู้อ่าน: 2076

18 เมษายน 2018