เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สถานีศรีรัช – เมืองทองธานี)
โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรอิสระ และผู้สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมใหญ่ 104 อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการกำหนดแนวเส้นทาง แนวทางการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ตลอดจนร่วมหารือถึงความเหมาะสมและเพียงพอของมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแนวทางการพัฒนาโครงการต่อไป
งานศึกษารายละเอียดความหมาะสมฯ ส่วนต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (สถานีศรีรัช – เมืองทองธานี) นี้ มีที่มาจากโครงข่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ประเภทระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ตามแนวถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทราไปจนถึงเขตมีนบุรี
เพื่อรองรับพื้นที่อยู่อาศัย แหล่งพาณิชยกรรม และการเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีการเชื่อมต่อการเดินทางให้สามารถเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนสายหลัก 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
หากสามารถต่อขยาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ได้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพการเดินทางของประชาชนจากบริเวณถนนแจ้งวัฒนะเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น และเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ด้วย เช่น ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เอสซีจี สเตเดี้ยม ธันเดอร์โดม และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น
โดยส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) ที่มีสมรรถนะสูง รองรับด้วยโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี สายหลัก ไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี
ประกอบด้วยสถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ (Impact Challenger) และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาอยู่ห่างจากศูนย์กลางแนวเส้นทางข้างละ 500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางตลาด ตำบลคลองเกลือ และตำบลบ้านใหม่ ในพื้นที่การปกครองของเทศบาลนครปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ที่มา : prachachat.net
จำนวนผู้อ่าน: 2665
01 พฤษภาคม 2018