เรียกว่าคืบหน้าทีละนิดเลยก็ว่าได้รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 26 กม. หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ใช้เงินลงทุนไป 93,950 ล้านบาท
โดยเริ่มลงเข็มสร้างเดือน ก.พ. 2556 ถึงขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่า 62% ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคระหว่างทางและปรับแผนอยู่หลายครั้งกว่าจะลงตัว ตามแผนงานหลังเคลียร์ทุกอย่างเสร็จสรรพล่าสุด ร.ฟ.ท.ตั้งเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 2563 คิดค่าโดยสาร 14-45 บาท
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นจะผลิตขบวนรถให้ทันหรือไม่ เพราะถึงขณะนี้ยังไม่เปิดไลน์การผลิต และกว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลาร่วม 2 ปี
“จากความล่าช้าดังกล่าว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ไปเร่งรัดให้ญี่ปุ่นเร่งการผลิตให้ ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ จะส่งมอบให้ช่วง ต.ค. 2562 หากทำได้ตามแผนนี้ คาดว่าจะเปิดบริการได้ทันในปี 2563” รายงานข่าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”
ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า งานก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต หลังปรับแผนงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าด้วยดี
โดยงานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้า 69.18% ยังล่าช้าจากแผนอยู่ 1% โดยสถานีกลางบางซื่อขณะนี้คืบหน้าแล้ว 49.31% ยังล่าช้าจากแผน เพราะติดรื้อย้ายท่อน้ำมันของบริษัท FPT คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2562
“สถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 3 แสนตารางเมตร หรือ 1 ใน 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตกแต่งพื้นที่ภายในและพื้นที่เชิงพาณิชย์มีร้านค้า บริการต่าง ๆ และติดตั้งระบบอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะต้องเปิดบริการพร้อมกับการเดินรถในปี 2563”
สำหรับสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต และสถานียกระดับ 8 สถานี มีความคืบหน้า 97.94% ล่าช้าจากแผนอยู่ 2% เนื่องจากติดการส่งมอบพื้นที่สร้างสกายวอล์กเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต
และสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ของกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) จากประเทศญี่ปุ่น มีความคืบหน้า 27.60% ล่าช้าจากแผน 25% เนื่องจากเปลี่ยนระบบเดินรถเป็น ETCS ตามมาตรฐานยุโรป ที่สามารถรองรับรถไฟฟ้าได้หลายระบบ
“การจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าได้สั่งซื้อไปแล้ว 130 ตู้ โดย 1 ขบวนจะมี 4-6 ตู้ เป็นรถของฮิตาชิ จะใช้วิ่งบริการทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อมี.ค. 2559 คาดว่าเดือน ก.ค.นี้จะเริ่มผลิตก่อนจะส่งมอบให้ครบปลายปี 2562 จากนั้นเริ่มทดสอบระบบว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ก่อนจะทดสอบวิ่งเสมือนจริง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึงจะเปิดบริการได้ จะล่าช้าจากกำหนดเดิม 3 เดือน จาก มิ.ย.เป็น ต.ค.2563” นายวรวุฒิกล่าวและว่า
โดย ร.ฟ.ท.จะตั้งบริษัทลูกมาเดินรถ มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท จะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือน ก.ค.นี้
“บริษัทลูกที่ตั้งใหม่ จะรับบุคลากรลอตแรก 600 คน มีบางส่วนอาจจะโยกจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพราะเมื่อได้เอกชนลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องรับการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ทำให้บริษัทลูกแอร์พอร์ตลิงก์จะสิ้นสภาพใน 2 ปี ถือเป็นการอัพเกรดพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ไปในตัว”
ทั้งนี้รัฐบาลกำชับ ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินงานใน 5 ปีแรกให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ไม่ได้มีเพียงผู้โดยสาร แต่มีด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย โดย ร.ฟ.ท.ต้องทำให้ได้ หากทำไม่ได้รัฐบาลจะยกให้เอกชนเข้ามาบริหารแทน เนื่องจากมีบทเรียนการตั้งเป้าผู้โดยสารคลาดเคลื่อนจากสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินก่อนหน้านี้
เมื่อเปิดบริการปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 50,000 เที่ยวคน/วัน และเพิ่มเป็น 100,000 เที่ยวคน/วันใน 5 ปี เก็บค่าโดยสาร 14-45 บาท ในช่วงแรกจะมีโปรโมชั่นจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการ อาจจะลดราคาอยู่ที่ 32-34 บาท ซึ่งโครงการจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 7
ที่มา : prachachat.net
จำนวนผู้อ่าน: 2748
31 พฤษภาคม 2018