4 เดือน SCB นำโด่งปิด 65 สาขา ธปท.ชี้แบงก์แห่ปิด 34 แห่ง-เคแบงก์เปิดเพิ่ม

เปิดข้อมูลสาขาจาก ธปท. พบ 4 เดือนแบงก์พาณิชย์ปิดสาขาแล้ว 34 สาขา ไทยพาณิชย์นำโด่งปิดสาขา 65 สาขา ตามด้วยกรุงไทย-ซีไอเอ็มบี ไทย-ยูโอบี-แบงก์กรุงเทพ ด้านไทยพาณิชย์ปิดสาขาตามเป้า 3 ปี เหลือ 400 สาขา แต่เปิดศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีแทนที่ ด้านกรุงไทยลั่นไตรมาส 3 เห็นโฉมใหม่ของสาขา เปลี่ยนโฉมสาขาเป็นสาขาไร้กระดาษ หวังลดต้นทุนสาขา 25%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวสาขาของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ทั้งระบบ ณ สิ้น เม.ย. 2561 ว่า ล่าสุดสาขาโดยรวมของแบงก์ทั้งระบบปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 6,750 สาขา ลดลง 34 สาขา เทียบจากสิ้นปี 2560 ที่มีจำนวน 6,784 สาขา และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) พบว่าสาขาลดลง 193 สาขา

พิกุล ศรีมหันต์

สำหรับในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารที่มีการปรับลดสาขาลงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนลดลง 65 สาขา มาอยู่ที่ 1,096 สาขา จากสิ้นปีก่อนมีจำนวน 1,161 สาขา รองลงมาจะลดลง 2 สาขาในหลายแบงก์ นำโดย ธนาคารกรุงไทย ลดเหลือ 1,119 สาขา จาก 1,121 สาขา, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จาก 84 สาขามาเหลือ 82 สาขา และธนาคารยูโอบี เหลือ 151 สาขา จาก 153 สาขา ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 1 สาขา เหลือ 1,165 สาขา จาก 1,166 สาขา อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 5 สาขา

 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีแนวโน้มจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน และจะเห็นสาขาในรูปแบบใหม่ ๆ มาแทนที่ ซึ่งล่าสุดการปรับสาขาในรูปแบบใหม่สู่การเป็นธนาคารที่ลดการใช้กระดาษจนถึงระดับไม่ใช้กระดาษในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการขอสินเชื่อ เงินฝาก เป็นต้น จะเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยทำงานมากขึ้น เพื่อให้บริการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแทน โดยที่ผ่านมาได้นำร่องแล้ว 2 สาขา ส่งผลให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนของสาขาได้ถึง 25% และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับรูปแบบสาขาดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค

“ปีนี้เริ่มเห็นสาขาธนาคารลดลงต่อเนื่อง และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ การลดสาขาก็จะเห็นสปีดที่ช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่รูปแบบสาขาบางจุดก็อาจดัดแปลง บางพื้นที่ก็อาจเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างอื่น ๆ ซึ่งก็คาดว่าจะเห็นสาขารูปแบบใหม่ ๆ ในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 สาขา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสาขาค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ปีนี้” นายผยงกล่าว

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากนโยบายของธนาคารที่มีแผนปรับลดสาขาต่อเนื่องจากกว่า 1,000 สาขา ให้เหลือราว 400 สาขา ภายใน 3 ปี (2563) ซึ่งขณะนี้ยังดำเนินการในทิศทางดังกล่าวอยู่ แต่จะมีสาขารูปแบบใหม่ ๆ มาแทนที่ เช่น ศูนย์ธุรกิจ (business center) สำหรับดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี

ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดแล้ว 5 แห่ง และปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 200 แห่ง ภายในปีཻ ซึ่งแต่ละแห่งใช้งบฯลงทุนเฉลี่ย 10 ล้านบาท

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มสาขาของธนาคารกสิกรไทยปีนี้ คาดว่าจะเห็นสาขาปรับลดลงต่ำกว่า 1,000 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 1,134 สาขา โดยจะมีการเปลี่ยนสาขาเป็นรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth) และธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น

นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปีนี้น่าจะเห็นสาขาของธนาคารปรับลดลงไม่ถึง 10 สาขาแล้ว เนื่องจากปีก่อนปรับลดสาขาลงค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้นสาขาในระดับปัจจุบันเป็นระดับที่อยู่ตัวแล้ว แต่อาจเห็นการย้ายทำเลที่ตั้งของสาขา

“มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่อยากมาสาขาอยู่ และลูกค้าส่วนหนึ่งมาทำธุรกรรมบนมือถือได้ ดังนั้นเราก็ยังจำเป็นต้องมีสาขาทั้งสองรูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าค่อย ๆ ปรับตัว และปัจจุบันยอมรับว่าการทำธุรกรรมที่สาขาก็ลดลงบ้าง ปีนี้จะไม่เห็นขยับแรงเหมือนปีก่อน เพราะเราลดลงมาเยอะแล้ว” นางธีรนุชกล่าว

 

ที่มา : prachachat.net


จำนวนผู้อ่าน: 2268

01 มิถุนายน 2018