บีทีเอสโกยรายได้กระฉูด-พร้อมสุดขีดเข้าประมูลเมกะโปรเจ็กต์คสช.

“รถไฟฟ้า-สื่อโฆษณา” ดันรายได้บีทีเอสโตต่อเนื่อง ผลประกอบการปีที่ผ่านมาโกย 1.4 หมื่นล้าน ผู้โดยสารทะลัก 241 ล้านเที่ยวคน ตั้งเป้าปีนี้คนใช้บริการเพิ่ม 4-5% ตุนเงินในกระเป๋า ลุยประมูลเมกะโปรเจ็กต์รัฐ ผนึกซิโน-ไทย ราชบุรีโฮลดิ้ง ปตท.ชิงเค้ก 2.2 แสนล้านไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

 

นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา (เม.ย. 2560-มี.ค. 2561)มีรายได้จากการดำเนินการปรับตัวดีขึ้น 63.9% จากปีก่อน เป็น 14,102 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนและธุรกิจสื่อโฆษณา โดยธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท ในปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้รวม 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.1% หรือ 4,875 ล้านบาทจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการบริการรับเหมาติดตั้งระบบ ก่อสร้างและจัดหาขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่ในรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต เพิ่มขึ้นเป็น 6,028 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 244.8% จากปีก่อน และรายได้จากการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เป็น 1,865 ล้านบาท

 

“ปีที่ผ่านมา BTS มียอดผู้โดยสารรวม 241.2 ล้านเที่ยวคน เพิ่มขึ้น 1.3% อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% เป็น 28.3 บาท/เที่ยว ส่วนเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มียอดผู้โดยสารรวม 17.4 ล้านเที่ยวคน ลดลง 1.8% จาก เม.ย. 2560 เป็นผลมาจากมีวันหยุดทำการต่อเนื่องหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 29.4 บาท/เที่ยว เพิ่มขึ้น 3.2%”

ส่วนธุรกิจสื่อโฆษณาในนาม บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ทำรายได้อยู่ที่ 3,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% หรือ 893 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน และการควบรวมธุรกิจกับ บมจ.มาสเตอร์ แอด ที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่คิดเป็น 37.42%

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลังจากโอนพอร์ตจาก บจ.ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ ไปอยู่ภายใต้ บมจ.ยูซิตี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รับรู้กำไรจากการทำธุรกรรม 1,880 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 639 ล้านบาท โดยธุรกิจอสังหาฯเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 616 ล้านบาท เป็นผลมาจากการดำเนินการของธุรกิจโรงแรมและโครงการธนาซิตี้ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ ส่วนที่อยู่อาศัย รายได้รวมอยู่ที่ 24 ล้านบาท ลดลง 10 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขายโครงการบ้านธนาซิตี้ลดลง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทั้งหมด ทำให้ฐานะทางการเงินอยู่ที่ 101,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน มีหนี้สินรวม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% และมีผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 3%

นายสุรยุทธกล่าวว่า ในปี 2561 นี้บีทีเอสคาดว่าผู้โดยสารจะเติบโต 4-5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน เนื่องจากจะมีการเปิดสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ยจะปรับขึ้น 1.5-2% จากปีก่อน คาดว่าจะมีรายได้จากการซ่อมบำรุงและเดินรถเพิ่มขึ้น 30% จะรับรู้รายได้จากการติดตั้งงานระบบและจัดหาขบวนรถไฟฟ้าสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้อยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท และจากงานก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ก็ให้ความสนใจในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐด้วย เพราะตามที่นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการที่ภาครัฐจะออกมาให้เอกชนลงทุน ทางบริษัทจะเข้าร่วมด้วยทุกโครงการ โดยมีพันธมิตรอย่าง บมจ.ซิโนไทยและ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จะร่วมกันเข้าประมูลในนามกิจการร่วมค้า BSR

ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลคือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรรายอื่น เช่น ปตท.ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนโครงการอื่นที่สนใจในตอนนี้มีรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท

 

ที่มา : prachachat.net


จำนวนผู้อ่าน: 2138

12 มิถุนายน 2018