แผนใช้หุ่นยนต์ 8 บริษัทยักษ์ “SCG-CPF-ปตท.-WHA-โฮมโปร-ยาวาต้า-KV-สุพรีมฯ” สะดุด ติดเงื่อนไข BOI “วืด” เว้นภาษีเงินได้ 3 ปี “อุตตม” รมว.อุตฯ สั่งเร่งหาทางออก ด้านสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหนุนส่งเสริมให้เอกชนลงทุนระบบอัตโนมัติ ตั้งเป้าปีนี้มูลค่าการใช้หุ่นยนต์ขยับขึ้น 6 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภายหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต รองรับการก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 แต่เอกชนทั้ง 8 รายที่พร้อมลงทุนในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ (demand side) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกอบไปด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์, บริษัทสุพรีม โพรดักส์, บริษัทเควี อีเลคทรอนิกส์ และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด
ติดเงื่อนไข BOI
สาเหตุเกิดจาก “คำขอ” ผิดเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ อาทิ เอสซีจี เป็นกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ หรือโฮมโปร เป็นประเภทกิจการค้าปลีก ขณะที่ CPF เคยยื่นขอตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านพลังงานไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่สามารถขอ BOI ปรับปรุงใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ BOI ส่งเสริมการลงทุนใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์ กับกลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์ โดยกลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ มีเงื่อนไขส่งเสริม คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน, ผลิตเครื่องจักร/อุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม (มีขั้นตอนพัฒนา automation system integration+
ระบบควบคุมสมองกลอัตโนมัติ) ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน แต่ถ้ากรณีไม่มีระบบ automation system integration ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และประเภทประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์/ชิ้นส่วน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี
ส่วนกลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 (กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้) เพื่อปรับปรุงในสายการผลิต/บริการเดิมกรณีใช้ระบบ automation ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ กับกลุ่มที่ไม่ใช้ระบบ automation ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินยกเว้นไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในเครื่องจักร และหากเป็นโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมแล้ว สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ (ยกเว้น/ลดหย่อนภาษี) ต้องสิ้นสุดลงไปแล้วเสียก่อน จึงมาขอรับส่งเสริมในกลุ่มนี้ได้
กลุ่มที่ 2 (กิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้) มีการลงทุนใหม่หรือปรับปรุงในสายการผลิต/บริการ จะต้องลงทุนระบบ automation เท่านั้น จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินยกเว้นไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ โดยกิจการที่ไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ (กลุ่มที่ 2) ได้แก่ กิจการรถยนต์/จักรยานยนต์/รถไฟฟ้า-พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ-สนง.ใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ)-บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)-กิจการสนับสนุนการค้า/ลงทุน (TISO) และโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในกรณีนำเครื่องจักรมาใช้ปรับปรุง
ประชุมบอร์ดหาทางออก
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ในกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) กล่าวว่า กรณีกลุ่มบริษัทผู้ใช้หุ่นยนต์ไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากผิดเงื่อนไขนั้น ได้มีการหารือกับ BOI มาโดยตลอด
“เรากำลังดูว่า BOI จะช่วยพิจารณาแนวทางออกอะไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันบางบริษัทมีหลายโครงการเชื่อมโยงกันหมด BOI จะพิจารณาให้ได้ไหมว่า ความเชื่อมโยงตรงนี้ควรให้สิทธิประโยชน์ได้ยังไง ยกตัวอย่าง SCG เป็นธุรกิจปูนไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ SCG จะนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาอาจไม่ชัดเจนว่าจะไปใช้ตรงไหน ในกรณีแบบนี้สามารถให้การสนับสนุนเขาได้อย่างไร BOI อาจมานั่งคุยกันในบอร์ด ดูอย่างกรณี อาลีบาบาก็สามารถหาทางออกให้ได้ อย่างการออกมาตรการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ หรือ smart digital ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปิดโอกาสให้กิจการเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมได้ด้วย” นายอุตตมกล่าว
นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เมื่อเกิดผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ คือ การสร้าง demand ขึ้นมา โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมแล้วกว่า 40 ราย BOI อนุมัติไปแล้ว 12 ราย เช่น บริษัทนาชิ ฟูจิโกชิ คอปอเรชั่น ผู้ผลิตหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติอันดับ 2 ในญี่ปุ่น และอันดับ 4 ของโลก ที่ได้อนุมัติลงทุนในไทยเพื่อผลิตแขนกลไปแล้ว และมีแผนขยายการลงทุนเพิ่ม รวมถึงศูนย์เทรนนิ่ง ที่ศรีนครินทร์เป็นโครงการต่อมา เฉพาะปี 2561 ทาง FIBO คาดว่ามีมูลค่าการใช้หุ่นยนต์ 60,000 ล้านบาท จากความต้องการใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติในประเทศ 140,000 ตัว/ปี
นายณัฐพล รังสิตพล รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าประเทศไทยมีผู้ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ system integrator (SI) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคต 200 ราย สศอ.ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี โดยสิ่งที่ต้องทำตามโรดแมป คือ การกระตุ้นอุปสงค์ให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการในประเทศนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าทำให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 60,000 ล้านบาทในปีแรก และขยายการลงทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาทใน 5 ปี
ที่มา : prachachat.net
จำนวนผู้อ่าน: 2294
25 มิถุนายน 2018