บอร์ดบีโอไอโชว์ผลงาน จัดแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์กระชากเม็ดเงินลงทุนค่ายรถกว่า 50,000 ล้านบาท ญี่ปุ่น ยุโรปแข่งเดือด ไม่มีใครถอย ฮอนด้าระบุจัดเต็มทุกแพ็กเกจรวมถึงแบตเตอรี่ ฟากนิสสันเร่งเครื่องส่งอี-พาวเวอร์ทำตลาด ทัพยุโรปดาหน้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท คือ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีว่า ปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท
โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 บอร์ดบีโอไอจะพิจารณาอนุมัติอีก 2 ค่ายที่ยื่นเสนอเข้ามา ได้แก่ นิสสัน มูลค่าลงทุน 10,960 ล้านบาท และฮอนด้า มูลค่า 5,821 ล้านบาท ในประเภทกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV)
ทั้งนี้ผู้ขอรับส่งเสริมต้องยื่นข้อเสนอแบบแผนงานรวม (Package) และจะต้องมีแผนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเลือกเป็น แบตเตอรี่ หรือ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะได้รับการ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร แต่กรณีที่ได้รับการส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์ให้สามารถนับรวมกับรถยนต์ไฮบริดได้
รถอีวีขาใหญ่มาครบ
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ค่ายรถที่ผ่านการพิจาณาแล้ว ได้แก่ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง, บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย และเบนซ์ รวมมูลค่าลงทุน 18,000 ล้าน ซึ่งโครงการที่มีการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทต้องเข้าบอร์ดชุดใหญ่
ฮอนด้าจัดเต็มทุกแพ็กเกจ
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนไปยังบีโอไอเรียบร้อย โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงรายละเอียด รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมโดยเฉพาะมีการเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ที่จะผลิตภายใต้โครงการ รวมทั้งซัพพลายเออร์ที่จะเข้ามาลงทุน
“โครงการลงทุนของเรามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด และเป็นการลงทุนแบบเต็มที่ รวมทั้งแบตเตอรี่ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นเราคงต้องรอดูจากข้อมูลล่าสุด หรือข้อมูลสุดท้ายที่บีโอไอประกาศ”
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจาก บีโอไอเมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่า ฮอนด้าขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี กำลังผลิต 37,000 คันต่อปี อย่างไรก็ตามจากข้อมูลโครงการที่เข้าพิจารณาในบอร์ดบีโอไอ วันที่ 25 ก.ค.นี้ มีมูลค่า 5,821 ล้านบาท
นิสสันรับอี-พาวเวอร์ คือไฮบริด
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับบริหารจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิสสันยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ ของนิสสัน ด้วยมูลค่า 10,960 ล้านบาท ที่โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังผลิต 80,000 คันต่อปี ส่วนรายละเอียดโมเดล ที่คาดว่าจะเป็นนิสสันโน๊ต อี-พาวเวอร์นั้น ยังไม่มีความชัดเจน และมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโมเดลอื่นติดตั้งเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ นิสสันนำเสนอเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ให้อยู่ในแพ็กเกจการลงทุนในหมวดรถยนต์ไฟฟ้า โดยระบุว่า ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนเช่นเดียวกับนิสสัน ลีฟ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวรถ จึงทำให้มีอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ในรถไฮบริดทั่วไป อีกทั้งยังสามารถลดความวิตกกังวลเมื่อต้องหาสถานีชาร์จไฟฟ้าได้อีกด้วย แต่ข้อสรุปเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ถูกจัดวางให้อยู่ในหมวดรถยนต์ไฮบริดเท่านั้น โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ล้วน ๆ
ยุโรปดาหน้าปลั๊ก-อิน, อีวี
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับบริหารของค่ายยุโรป โดยบีเอ็มดับเบิลยูกรุ๊ปประกาศชัดว่า ได้ขอแพ็กเกจกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ไปเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้มูลค่าการลงทุน 705 ล้านบาท โดยบีเอ็มดับเบิลยูจะใช้โรงงานในจังหวัดระยองเป็นฐานการผลิต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ประเภทนี้ของบริษัทมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปีที่แล้วมียอดขายคิดเป็น 15% และปีนี้ในช่วง 4 เดือน สัดส่วนเพิ่มเป็น 18% ของยอดขายทั้งหมด
ขณะที่นายอันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุนเกือบ 4 พันล้านบาท หรือ 100 ล้านยูโร เพื่อขยายเครือข่าย
การผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ในโลกที่ประเทศไทย ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างเนื่อง โดยเป็นการลงทุนร่วมระหว่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด
โรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะเปิดทำการในปี 2562 และจ้างงานใหม่อีก 300 ตำแหน่ง นอกจากการสร้างโรงงานแบตเตอรี่แล้ว งบประมาณดังกล่าวยังจะใช้ในการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 12,000 คัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี รวมเม็ดเงินน่าจะทะลุ 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่ายโตโยต้า ลงทุน 20,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา นิสสัน 10,960 ล้านบาท กำลังผลิต 80,000 คันต่อปีมาสด้าขอรับส่งเสริมลงทุน 11,400 ล้านบาท ใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง กำลังผลิต 120,000 คันต่อปี ฮอนด้า 5,821 ล้านบาท ซูซูกิขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด ด้วยกำลังผลิต 12,000 คันต่อปี
ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-195186
จำนวนผู้อ่าน: 2121
25 กรกฎาคม 2018