ตลาดผู้สูงอายุ’ความเป็นไปได้การลงทุน‘ไทย-ญี่ปุ่น’

จากข้อมูลเชิงสถิติของ นีลเส็น ประเทศไทย เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไประบุว่าในปี ค.ศ. 2030 ผู้สูงอายุทั่วโลกจะขยับเพิ่มเป็น 1 พันล้านคน และในปี ค.ศ. 2050 จะเพิ่มเป็น 1.5 พันล้านคน โดยทวีปที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด คือ เอเชีย อยู่ที่ 61% และ 3 ประเทศหลักที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 30% จากประชากรทั้งประเทศ 120 ล้านคน ตามมาด้วย สิงคโปร์ ที่เพิ่มขึ้น 23% และประเทศไทย ที่ขยับขึ้นเป็น 19% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ

การที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ท่ามกลางตัวเลขประชากรกลุ่มวัยทำงานที่มีจำนวนคงที่หรือลดน้อยลง จึงทำให้ สถานพยาบาลผู้สูงอายุ หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (The Senior Health care)ในหลายประเทศมีการขยายตัวสูงขึ้น และถูกพัฒนาเป็นธุรกิจแนวใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลด้านสุขอนามัยอย่างทั่วถึงทั้งทาง กายภาพและสภาพจิตใจ ตลอดจนการสร้างสภาวะแวด ล้อมที่เหมาะสมกับสังคม

สำหรับประเทศไทย ได้มีการพัฒนากิจการสถานพยาบาลผู้สูงอายุมากว่า 10 ปี เห็นได้ชัดในพื้นที่เชียงใหม่และเชียงราย มีลักษณะของโครงการโฮมสเตย์ ทั้งยังสอดคล้องกับตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) ที่เป็นเป้าหมายในการพำนักระยะยาวร่วมกับการรับบริการทางการแพทย์ไปด้วย ซึ่งมักได้รับความนิยมจากทั้งผู้สูงอายุในกลุ่มยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่นที่นิยมพำนักในประเทศไทยเนื่องจากมีความใกล้ชิดและสามารถปรับตัวได้ง่ายทั้งเรื่องสภาพอากาศและวัฒนธรรม แนวโน้มดังกล่าวกำลังกลายเป็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการจัดสรรโครงการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของกลุ่มคนดังกล่าว

                                      

ล่าสุด รัฐบาลไทยได้เปิดรับความร่วมมือจากเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ในการเดินหน้าโครงการ “ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ” (Retirement Home) เข้าประมูลก่อสร้างโครงการและเข้ามาพัฒนาพื้นที่นำร่องของราชพัสดุ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และสงขลา รวมถึงโครงการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) โดยกระทรวงการคลัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ใช้สอยที่เหมาะสม และอยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล

สอดคล้องกับแนวทางรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ที่พยายามจัดสรรที่พักอาศัยและการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งการจัดสวัสดิการ พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ตลอดจนการเปิดรับบุคลากรทางการแพทย์พยาบาลจากต่างประเทศเข้ามาดูแลมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากยังขาดแคลนกลุ่มบุคลากรดังกล่าวอยู่พอสมควร ทั้งนี้ภายใต้ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือ Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA น่าจะเป็นอีกช่อง ทางหนึ่งของผู้ประกอบการเอกชน ที่จะสามารถสานต่อแนวทางการดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาลญี่ปุ่นในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับยุทธศาสตร์การให้บริการกลุ่ม Niche Market จัดตั้งสถานพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น รองรับการเคลื่อนย้ายหรือปรับ-ขยายโครง สร้างในอนาคตได้

ปัจจุบันการเริ่มต้นลงทุนในญี่ปุ่น เช่น การจดทะเบียนจัดตั้ง subsidiary company และ LLP หรือการลงทุนทั่วไป นอกจากจะไม่มีข้อจำกัดสัดส่วนหุ้นต่างชาติในการลงทุนแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีเกณฑ์อนุญาตให้บริษัทผู้ประกอบกิจการศูนย์พยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรืออบรมวิชาชีพเฉพาะทางนั้น ได้รับการลดหย่อนภาษี 25% ของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หรือ 10% ของภาษีนิติบุคคลด้วย ส่วนกรณีการร่วมลงทุนและได้รับ visa ประเภท Investor/Business Manager มีการกำหนดการลงทุนขั้นตํ่าที่ประมาณ 5 ล้านเยน (ประมาณ 2 ล้านบาท) ซึ่งภาพรวมนับว่าสามารถเริ่มต้นกิจการได้ไม่ยาก และด้วยทุนเริ่มต้นที่ไม่สูงมากนัก จึงนับว่าเอื้อต่อการเปิดกิจการให้บริการผู้สูงอายุในญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ประสงค์เดินทางออกนอกประเทศ แต่ต้องการรับบริการที่มีคุณภาพและใช้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับการจัดสรรในสถานพยาบาลหรือสถานดูแลผู้สูงอายุภายในประเทศ เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม หรือแม้แต่กลุ่มแฟชั่นและสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ที่คนญี่ปุ่นมีกำลังซื้อ เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราผู้สูงอายุของแต่ละประเทศ ทำให้ “ธุรกิจการให้บริการ” แก่ผู้สูงอายุ กำลังมีบทบาทและสามารถตอบโจทย์แก่สังคมได้ทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ บนพื้นฐาน “การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยศักยภาพของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลากร วิทยาการทางการแพทย์ หรือการให้บริการ ถือเป็นจุดเด่นสำคัญที่สามารถสร้างชื่อและความประทับใจให้กับตลาดผู้สูงอายุได้ไม่ยาก

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อ คิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ info@globthailand.com

ที่มาของข่าว : [email protected]ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,273 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

http://www.thansettakij.com/content/168558


จำนวนผู้อ่าน: 2003

27 มิถุนายน 2017