รถติดหลอนอีก 3 ปี “ลำสาลี”คิวต่อไป ขอครม. 3 พันล. แก้จุดทับซ้อนสายสีส้ม-สะพานข้าม

รถติดหลอนคนกรุง 3 ปี รัฐโหมสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ขุดพรุนทั่วกรุง หนักสุดพหลโยธิน ลาดพร้าว รามคำแหง พระราม 9 ศรีนครินทร์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา เล็งจัดฟีดเดอร์รับคนจากในซอยส่งถึงบันไดรถไฟฟ้า รฟม.เร่งเคลียร์ กทม.ยุติจุดทับซ้อน ชง ครม.อัดเพิ่ม 3 พันล้าน เจาะอุโมงค์สายสีส้ม รอสะพานยกระดับพาดยาวลำสาลี-คลองบ้านม้า จับตาอิตาเลียนไทยฯ รับส้มหล่น กลับลำไม่ทุบทิ้งสะพานแยกบางกะปิ ตำรวจจัดจราจรเร่งระบายรถเช้า-เย็น ออกกฎเหล็กคุมรถบรรทุกวิ่งในพื้นที่ก่อสร้าง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน รฟม.กำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค สายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ซึ่งทำให้ผิวการจราจรบนถนนสายหลักทั้งถนนประชาราษฎร์ จรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม พหลโยธิน ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา ติวานนท์ รามคำแหง และพระราม 9 ถูกจำกัด ส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัดมากขึ้น โดยเฉพาะถนนลาดพร้าวและรามคำแหง ที่ผิวจราจรคับแคบและเป็นพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ

“ด้วยข้อจำกัดผิวจราจร ทำให้รถติดมากขึ้น ยิ่งหน้าฝนยิ่งหนัก รฟม. ผู้รับเหมา และตำรวจจราจร เร่งหาทางบรรเทาปัญหา เช่น ลาดพร้าวที่ติดหนักในขณะนี้เพราะปิดถนน 2 เลนจาก 6 เลนเหลือ 4 เลน จะจัดช่องเว้าให้รถสาธารณะเข้าไปจอด 21 จุดตลอดแนว เช่น หน้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว จะประสานกับการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง เพราะมีย้ายเสาไฟฟ้าและท่อประปาด้วย อีกทั้งจะประสาน ขสมก.นำรถเมล์วิ่งเป็นฟีดเดอร์รับส่งคนจากในซอยไปยังสถานีรถไฟฟ้า เช่น ซอยภาวนา ลาดพร้าว 71 วัดบึงทองหลาง”

เร่งเคลียร์จุดทับซ้อน กทม.

นอกจากนี้จะเร่งเคลียร์พื้นที่จุดทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างของ กทม. เพื่อให้งานก่อสร้างเดินหน้าตามแผน และคืนผิวจราจรได้เร็วขึ้น ที่มีข้อยุติแล้วคือสะพานข้ามแยกลำสาลีในแนวสายสีส้ม ซึ่ง กทม.มีโครงการขยายสะพานข้ามแยกไปถึงคลองบ้านม้า พร้อมสร้างอุโมงค์ทางลอดตั้งแต่คลองบ้านม้าไปถนนราษฎร์พัฒนา และให้ รฟม.ออกเงินและก่อสร้างให้ไปก่อนพร้อมกับรถไฟฟ้า ในเร็ว ๆ นี้จะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขยายกรอบวงเงินก่อสร้างเพิ่มเฉพาะสะพานข้ามแยก เพราะเป็นคนละโครงการกัน คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างอีกหลาย 1,000 ล้านบาท

“ได้รับอนุมัติแล้ว จะให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างรวมเข้าไปกับงานอุโมงค์ของสายสีส้ม ส่วนที่เป็นอุโมงค์ทางลอดยังสามารถรอได้ เพราะช่วงนั้นเป็นโครงสร้างยกระดับ ขณะที่สะพานข้ามแยกบางกะปิ ในแนวสายสีเหลือง เดิม กทม.อยากจะให้ทุบแล้วสร้างใหม่ อาจจะไม่ต้องรื้อ เพราะถ้ารื้อจะต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม อาจจะปรับแบบโครงสร้างให้วิ่งเกาะด้านข้างสะพานแทน”

ติดหนึบ – พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังเผชิญกับปัญหารถติดอย่างสาหัส ส่วนหนึ่งมาจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายที่ต่อขยายเส้นทางจากในเมืองไปยังชานเมืองมากขึ้น มีกำหนดทยอยเปิดใช้ปี 2562-2566 เท่ากับคนกรุงต้องเผชิญรถติดอีก 3-5 ปี

คิวต่อไปปิดสะพานแยกลำสาลี

นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการรองผู้ว่าการ รฟม.ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า ทางอิตาเลียนไทยฯได้ปรับแผนเจาะอุโมงค์ช่วงแยกลำสาลี-คลองบ้านม้าออกไป 2 เดือน จากเดิมจะปิดสะพานข้ามแยกชั่วคราว 6 เดือนเพื่อรื้อบางส่วนรองรับกับโครงสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าและโครงการของ กทม.ภายในเดือน ต.ค.นี้เป็นปลายปี ซึ่งยอมรับว่าการปิดสะพานข้ามแยกจะส่งผลกระทบต่อการจราจร

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีโครงการจะก่อสร้างแก้ปัญหาการจราจรบนถนนรามคำแหง วงเงินรวม 5,770 ล้านบาท แยกเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรจากแยกลำสาลี-คลองบ้านม้า วงเงิน 3,120 ล้านบาท และอุโมงค์ทางลอดใต้ถนนกาญจนาภิเษกจากคลองบ้านม้า-ถนนราษฎร์พัฒนา วงเงิน 2,000 ล้านบาท และขยายผิวจราจรถนนราษฎร์พัฒนาเชื่อมกับคลองบ้านม้า เป็น 8 ช่องจราจร วงเงิน 650 ล้านบาท

“สำนักการโยธา กทม. กำลังร่วมกับ รฟม.ที่กำลังสร้างสายสีส้มเพื่อปรับแบบ เพราะมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ลักษณะจะเหมือนกับอุโมงค์ลอดใต้ถนนจรัญสนิทวงศ์-แยกบางพลัด ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งการก่อสร้างจะต้องไปพร้อมกัน ครั้งนั้นกว่าจะสร้างอุโมงค์ได้ก็ 3-4 ปี กว่าจะสร้างเสร็จ”

ส่วนสะพานข้ามแยกบางกะปิที่ก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะรื้อออกเพื่อก่อสร้างสายสีเหลือง ล่าสุด รฟม.แจ้งมาว่า จะไม่รื้อออกแล้ว แต่จะสร้างเสาตอม่อบริเวณกลางสะพานแทน จะใช้พื้นที่บางส่วนของสะพานเท่านั้น แต่อาจจะต้องสร้างช่องทางจราจรทดแทนเมื่อเสาตอม่อเสร็จ ซึ่ง รฟม.กำลังปรับแบบอยู่เช่นกัน แต่ผู้ที่รับภาระการก่อสร้างยังคงเป็น รฟม. เพราะเป็นการใช้พื้นที่สะพานของ กทม.ในการก่อสร้าง

รามฯ-ลาดพร้าวติดหนึบ 3 ปี

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า สถานการณ์รถติดพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะติดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ยิ่งทำให้รถติดหนักขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ากระจายในหลายพื้นที่ กว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือถนนลาดพร้าวและรามคำแหง เพราะเป็นถนนที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากทั้งเช้าและเย็น และมีพื้นผิวจราจรถูกใช้ไปในโครงการก่อสร้างค่อนข้างมาก

“ถนนลาดพร้าวที่ติดหนักมากเกิดจากยกเลิกช่องทางพิเศษบริเวณขาออก ช่วงแยกบางกะปิ-โชคชัย 4 ได้หารือกับผู้รับเหมาก่อสร้าง จะถอนแนวกั้นออกไปในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า 06.00-09.00 น. และเย็น 15.00-21.00 น. ให้เหลือช่องจราจร 3 ช่อง ส่วนป้ายรถประจำทางทั้ง 21 ป้ายที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง จะขยับออกไปตลอดแนว 50 เมตร และงดใช้ป้ายรถเมล์หน้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว ให้รถประจำทางเข้าไปจอดรับผู้โดยสารบริเวณถนนคู่หน้าห้างแทน ให้จราจรคล่องตัวขึ้น”

แนะใช้ทางลัดทางเลี่ยง

อย่างไรก็ตาม อยากให้ใช้เส้นทางลัดใน ซ.ลาดพร้าว 30, 32 และ 36 เนื่องจากสามารถลัดไปออกถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว-วังหิน ถนนโชคชัย 4 ถนนลาดปลาเค้า-วังหิน ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และถนนประเสริฐมนูกิจได้ ขณะที่ฝั่งขาเข้า ให้ใช้ซอยลาดพร้าว 64 และซอยลาดพร้าว 80 เพื่อไปออกถนนรัชดาภิเษกซอย 18 และแยกรัชดาฯ-สุทธิสารยังมีแนวคิดจะเจาะเกาะกลางถนนบริเวณหน้าศาลอาญาไปถึงแยกรัชโยธิน เพื่อเป็นถนนให้รถที่มาจากลาดพร้าวเลี้ยวขวาได้ทันที ไม่ต้องกลับรถไกล อยู่ระหว่างหารือกับ กทม. เชื่อว่าปัญหาบนถนนรัชดาภิเษกจะคลี่คลายเมื่ออุโมงค์ลอดใต้แยกรัชโยธินสร้างเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตแล้วเสร็จในปี 2563

พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวอีกว่า อีกจุดจะวิกฤตบริเวณแยกลำสาลีในแนวสายสีส้มที่จะก่อสร้างสถานีใต้ดิน มีความจำเป็นต้องรื้อสะพานข้ามแยกออก ตอนนี้ได้รื้อสะพานช่วงขาลงออกแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถรื้อในช่วงขาขึ้นได้ทั้งหมด โดยเมื่อสร้างเสร็จแล้ว รฟม.จะต้องสร้างสะพานนี้คืน กทม.ในภายหลัง คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี

ไม่ทุบสะพานบางกะปิ

ส่วนสะพานข้ามแยกบางกะปิ เดิมที่มีแนวคิดจะรื้อสะพานออกด้วยนั้น ตอนนี้ผู้รับเหมามีแนวคิดใหม่ที่จะสร้างตอม่อบริเวณกลางสะพาน และขยายสะพานออกไปข้างละ 1 ช่องแทน อยู่ระหว่างการออกแบบร่วมกับ กทม. ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจะได้ข้อสรุป

และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในจุดที่มีปัญหา พร้อมจัดกำลังช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมและช่างเคลื่อนที่เร็วกรณีเกิดอุบัติเหตุรถเสีย โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า 06.00-08.00 น. และช่วงเย็น 15.00-21.00 น.

ออกกฎเหล็กคุมรถ 6 ล้อ

นอกจากนี้เตรียมออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรว่าด้วยการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป เดินและห้ามจอดรถในทางบางสายในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อบังคับใช้ในถนนที่มีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เช่น ถนนแจ้งวัฒนะ รามอินทรา ลาดพร้าว รามคำแหง คาดว่าสามารถประกาศใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้

ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-205133


จำนวนผู้อ่าน: 2309

17 สิงหาคม 2018