คอลัมน์ จับกระแสตลาด
กระแสความนิยมในธุรกิจฟู้ดทรัก หรือรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ กลายเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงและตอบโจทย์ความต้องการในแง่ของการเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว ตรงกับผู้บริโภคเริ่มออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจฟู้ดทรักมากขึ้น
การทำธุรกิจ “ฟู้ดทรัก” จึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่รถเคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอีกมาก ทั้งธุรกิจรถยนต์, ธุรกิจการเงินและการบริการ, ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าและประชาสัมพันธ์, ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจร้านค้า ศูนย์การค้า และตลาดนัด ซึ่งรวม ๆ แล้วคาดว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจในระบบกว่า 12,000-13,000 ล้านบาท
จึงไม่ต้องแปลกใจที่นอกจากผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็กที่เข้ามาสู่ธุรกิจฟู้ดทรักนี้มากขึ้นแล้วนั้น แบรนด์ร้านอาหารและกลุ่มเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งกลุ่มสเตชันนารี่ ก็เข้ามาให้ความสำคัญกับการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้นตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ ผ่านรูปแบบ “รถทรัก”
“ชนินทร์ วัฒนพฤกษา” ประธานและผู้ก่อตั้งองค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรัก เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมฟู้ดทรักในประเทศไทย มีมูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากแบรนด์ใหญ่ ๆ ก็หันมาทำธุรกิจฟู้ดทรักมากขึ้น บวกกับเทรนด์รถอาหารเคลื่อนที่เริ่มได้รับความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำอาชีพเสริม
ด้วยจุดเด่นของรถฟู้ดทรักจะสามารถย้ายสถานที่ขายได้ทุกที่ทุกเวลา ตามแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ตลาดนัด และงานเทศกาลต่าง ๆ ที่มีผู้คนสัญจรไปมา ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ชอบหาประสบการณ์แปลกใหม่ในการรับประทานอาหารที่ไม่จำเจ
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบการรถฟู้ดทรัก หรือครัวติดล้อ มากกว่า 1,000 ราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 70% และต่างจังหวัด 30% โดยแบ่งเป็นธุรกิจประเภทอาหาร ร้อยละ 60 ที่เหลือร้อยละ 40 จะเป็นประเภทเครื่องดื่มและของหวาน
ธุรกิจรถฟู้ดทรักแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รถกระบะต่อเติม รถเทรลเลอร์หรือรถพ่วง และรถเก่าที่เอามาต่อเติมใหม่ ทำให้งบฯลงทุนไม่สูงมาก ประกอบกับการมีค่ายรถหลายยี่ห้อผลิตรถฟู้ดทรักออกมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจนี้โดยเฉพาะ โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 1-3 แสนบาท/คัน ที่ผ่านมาองค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรักจะเน้นการให้ความรู้ผ่านการจัดอบรมสัมมนา ผ่านกลยุทธ์ “ฟู้ดทรักมาร์เก็ตติ้ง” ที่ใช้ต้นทุนต่ำและสามารถโปรโมตผ่านการตกแต่งรถให้โดดเด่น เพื่อสร้างการรับรู้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้นพร้อมเดินหน้าประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายธุรกิจนี้เข้าไปในตลาด CLMV เพราะจะช่วยยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการรถฟู้ดทรักไทยได้อีกทาง
ขณะที่กลุ่มร้านอาหาร เชนใหญ่ ๆ ระดับประเทศ ก็ขอชิงโอกาสในการขาย ทั้งส่งโมเดลและเมนูใหม่ หวังเจาะกลุ่มผู้บริโภคนอกพื้นที่ห้าง เริ่มต้นด้วยกลุ่มร้านอาหารเครือไมเนอร์ ส่ง “แดรี่ควีน” ในรูปแบบรถฟู้ดทรัก โดยเลือกโลเกชั่นที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย เช่น บริการโมบายยูนิต หรือนำรถฟู้ดทรัก เข้าไปตั้งในอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
ตามด้วย “อานตี้ แอนส์” ภายใต้การบริหารงานโดยบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ในปีที่ผ่านมา ได้เปิดตัวโมเดล “อานตี้ แอนส์ ฟู้ดทรัก” ที่ถูกออกแบบให้ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พร้อมเมนูใหม่ที่มีจำหน่ายเฉพาะที่ “อานตี้ แอนส์ ฟู้ดทรัก” เท่านั้น
พร้อมเปิดตัว มิสเตอร์ โดนัท โมเดลใหม่ “มิสเตอร์ โดนัท ฟู้ดทรัก” รถบริการเคลื่อนที่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Donut and More…40 ปี มีดีมากกว่าโดนัท มาใช้ในการขยายธุรกิจของแบรนด์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายและทำรายได้นอกศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงาน งานอีเวนต์ งานแสดงสินค้าต่าง ๆ
รวมทั้งกลุ่มเครื่องดื่ม คอฟฟี่ เวิลด์ เปิดตัว “Coffee World Truck” ร้านกาแฟเคลื่อนที่ ที่ถูกออกแบบให้ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สังคมเมือง พร้อมคิดค้นเมนูใหม่จำหน่ายเฉพาะ คอฟฟี่ เวิลด์ ทรัก โดยเน้นเพิ่มช่องทางขายผ่านงานแสดงสินค้า ตลาดนัดกลางคืน และออกงานอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
หรือแม้แต่กาแฟสดแบรนด์ “ชาวดอย” ในเครือ “อโรม่า กรุ๊ป” ได้ขยายโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ “ชาวดอย มูฟวิ่ง” ในรูปแบบ “รถตุ๊กตุ๊กขายกาแฟ” สามารถเปลี่ยนทำเลขาย และเข้าหาลูกค้าได้กว้างขึ้น ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 490,000 บาท
เช่นเดียวกับ B2S ร้านค้าปลีกแคทีกอรี่คิลเลอร์ ในกลุ่มเครื่องเขียนและสินค้าที่ใช้ในสำนักงานของกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการเปิดตัว “B2S mini truck to you” รถมินิทรักที่ขายสินค้าเครื่องเขียน เริ่มทยอยออกไปจอดหน้าโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการใช้สินค้า
สอดคล้องกับ “ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นซีซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ หรือนีโอ กล่าวว่า มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจฟู้ดทรักในประเทศไทย เห็นได้จากปัจจัยการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจฟู้ดทรักมีมากขึ้น และเป็นเป้าหมายในการลงทุนของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสามารถลงทุนได้ง่ายกว่าร้านอาหารทั่วไป ที่จะต้องมีทั้งทำเล และการจ้างพนักงาน ขณะที่ต้นทุนธุรกิจฟู้ดทรักมีเพียงรถหนึ่งคันและลงทุนตกแต่งเล็กน้อย และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย
จึงได้ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายธุรกิจฟู้ดทรัก จัดงาน “Food Truck Expo 2019” เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการรถฟู้ดทรัก และธุรกิจเชื่อมโยงสนับสนุนกว่า 200 ราย ทั้งที่เป็น big brand food truck และที่เป็นสมาชิกขององค์กรเครือข่าย รวมถึงธุรกิจเชื่อมโยง อาทิ รถยนต์เพื่อใช้ทำรถฟู้ดทรัก ธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยีที่ใช้บนรถฟู้ดทรัก ธุรกิจบริการทางการเงิน วัตถุดิบและอาหารสด เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมทางด้านธุรกิจฟู้ดทรักให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 25-28 เมษายน 2562 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 10,000 คน
เรียกได้ว่าฟู้ดทรักถือเป็นธุรกิจติดล้อริมถนนที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และกำลังเติบโตเป็นที่น่าจับตามอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-294329
จำนวนผู้อ่าน: 2632
26 กุมภาพันธ์ 2019