มช.ผุดรง.นวัตกรรมอาหารภาคเหนือ ดัน SMEs แปรรูปขั้นสูง-เป้า 5 ปีสร้างเม็ดเงิน 2 พันล.

รง.นวัตกรรมอาหาร - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อนุมัติงบประมาณ 163 ล้านบาทให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตั้งโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรภาคเหนือ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกันยายน 2562

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับลูกกระทรวงวิทย์ ทุ่ม 163 ล้านผุด “โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรภาคเหนือ” ปักหมุดภายในโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เขตพื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ ตอบโจทย์เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ ที่ขาดความสามารถในการลงทุนเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูงและขาดความสามารถในการผลิตสินค้าอย่างมีมาตรฐาน มุ่งไลน์การผลิต OEM เน้นต่อยอดด้านอาหาร เครื่องดื่ม การแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูง ดันมูลค่าเศรษฐกิจพุ่งกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมเดินเครื่องการผลิตเปิดให้บริการเดือนกันยายน 2562

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ฯอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร มูลค่าการลงทุน 163 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและให้บริการภาคเอกชนในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านอาหารและเครื่องดื่ม การแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูง (high value added product : HVA) ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการใช้บริการงานวิจัย พัฒนา และผลิตสินค้านวัตกรรมอาหารได้อย่างครบวงจร ต่อยอดผลงานวิจัยโดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เกิดขึ้นจริงผ่านการให้บริการอย่างครบวงจร ในรูปแบบการรับจ้างการผลิตสินค้า (original equipment manufacturer : OEM) ด้วยปริมาณการลงทุนที่เหมาะสม บริการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานดังกล่าวจะแล้วเสร็จราวเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนกันยายน 2562

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) และสตาร์ตอัพ (startup) ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอาหารให้มีโอกาสในการขยายขนาดธุรกิจ ทำให้เพิ่มอัตราการลงทุน การจ้างงานในพื้นที่ พร้อมทั้งช่วยยกระดับให้ผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2567) โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้ารับบริการได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,100 ล้านบาท โดยสามารถสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงเครื่องมือในกระบวนการแปรรูปอาหารที่ทันสมัยจากภาครัฐได้ไม่น้อยกว่า 700 ราย (โดยประมาณการ 50 รายในปีแรก) พร้อมสร้างการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจาก SMEs และ startup เขตพื้นที่ภาคเหนือได้ถึง 1,600 อัตรา

 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพกล่าวต่อไปว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโครงการทั้งหมดผ่านสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยตั้งอยู่ใกล้กับโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่) ภายในพื้นที่การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งผ่านการดำเนินงานโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการ

ตามแผนที่วางไว้จะสร้างเป็นอาคารสองชั้น (innovative food fabrication pilot plant) ตั้งอยู่บนพื้นที่ให้บริการ 4,570 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยพัฒนา (ขนาดพื้นที่ประมาณ 1,472 ตารางเมตร) และสำหรับพื้นที่สายการผลิต 4 สาย (ขนาดพื้นที่ประมาณ 3,098 ตารางเมตร) ได้แก่ 1.acid food process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทปรับกรด เช่น น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ซอส แยม 2.low acid food process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทกรดต่ำ ที่มีค่า pH มากกว่า 4.6 และมีค่า water activity มากกว่า 0.85 (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) เช่น นม เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท อาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท 3.dehydration process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปประเภทการทำแห้ง หรือการลดความชื้นของอาหารด้วยการระเหยน้ำด้วยวิธีอบแห้ง เช่น ผลิตภัณฑ์ชงละลาย อย่างนมผง ชาผง กาแฟผง ผักผลไม้อบแห้งด้วยเทคนิคต่าง ๆ แคปซูล สมุนไพรอัดเม็ด นมอัดเม็ด สารสกัด 4.advanced and nutraceutical food process กลุ่มกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น premium quality product สารสกัด สารให้กลิ่นรส โดยไม่ใช้ความร้อน

จากสถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยในปี 2561 พบว่ามีมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารราว 1.07-1.12 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปี 2560 และจากศักยภาพของภาคเหนือที่มีจุดแข็งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือมีมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 120,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 23,000 ล้านบาท และมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า 2,500 โรง หรือเป็นสัดส่วนกว่า 46% ของจำนวนโรงงานทั้งหมดในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาและสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในพื้นที่ทำให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีปัญหาร่วมกันประการหนึ่ง คือ ขาดความสามารถในการผลิตสินค้าอย่างมีมาตรฐาน ขาดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงขาดความสามารถในการลงทุนเครื่องจักรที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-295832

 


จำนวนผู้อ่าน: 2511

02 มีนาคม 2019