“มหิดล” ยกระดับหลักสูตร นำ AUN-QA สร้างมาตรฐานระดับโลก

(ซ้าย) ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ (ขวา) ผศ.ดร.นพดล เผ่าสวัสดิ์

ถึงแม้เทคโนโลยีการแพทย์ และวิทยาศาสตร์จะเป็นศาสตร์ที่สร้างความความแข็งแกร่งให้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล มาอย่างยาวนาน แต่ศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในยุคดิสรัปชั่น

ผลเช่นนี้จึงทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ และสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถประกอบอาชีพได้ ด้วยการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองตลาดแรงงานทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการนำการศึกษาของไทยสู่การยอมรับระดับนานาชาติ และเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (world class university)

“ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ” รักษาการแทนอธิการบดี ม.มหิดล กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และสังคมโลก เพราะการบริหารจัดการกับความท้าทายดังกล่าวเชื่อว่าการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ และมีประโยชน์ต่อการรักษา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาตามมาตรฐานสากล

“มหิดลจึงมีการดำเนินการประกันคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกันคุณภาพภายใน และการประกันคุณภาพภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหลักสูตร เพราะมหาวิทยาลัยมหิดลได้ใช้แนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ และใช้เกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network-Quality Assurance-AUN-QA)”

 

“นอกจากนั้น เรายังให้การสนับสนุนเครือข่ายของมหาวิทยาลัยอาเซียน โดยเฉพาะด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนระดับสูงจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้ามาประเมินความเข้าใจระบบคุณภาพ เพราะเขามีโอกาสมาสัมผัสกับสิ่งที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของโครงสร้างทางกายภาพ โครงสร้างหลักสูตร อาจารย์ และคุณภาพ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อเขาเห็นศักยภาพ เห็นคุณภาพของเรา ทำให้เขาไปอธิบายบอกต่อได้ว่า ที่มหิดลคุณภาพการศึกษาดีอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าประสิทธิภาพความสามารถที่ปรากฏในเวทีสากล”

“ทั้งนี้ ทาง AUN-QA ยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนในรูปแบบที่ประหยัดเงิน เพราะถือว่าเป็นงบประมาณจากส่วนอื่น ๆ ที่เข้ามารับช่วงแทนเรา จนทำให้ทุกฝ่ายเกิดประโยชน์ เพราะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของหลักสูตรต่าง ๆ ของมหิดล”

นอกเหนือจากการประเมินคุณภาพต่าง ๆ “ศ.นพ.บรรจง” ยังขับเคลื่อนการใช้เกณฑ์มาตรฐานเฉพาะสาขาอื่น ๆ อีกด้วยอย่างเช่น การประเมินคุณภาพทางด้านการแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลคุณภาพการผลิตบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์ อันเป็นมาตรฐานระดับสากลอีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นไป ซึ่งใหญ่กว่าภูมิภาคอาเซียน หรือแม้แต่กระทั่งเกณฑ์ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) หรือสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ และการบัญชีทั่วโลก

ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับหลักสูตร 7 หลักสูตร จากการประเมิน 2 ครั้ง โดยครั้งที่หนึ่ง จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาชีวเคมี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์, หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการบริการนานาชาติ (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ

ส่วนครั้งที่สอง จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด, หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการระบาดคลินิก (หลักสูตรนานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สำหรับหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ “ผศ.ดร.นพพล เผ่าสวัสดิ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนเวศน์นิทัศน์พัฒนา บอกว่า ข้อแนะนำที่เราได้จากผู้ประเมิน ทุกคนต่างให้ความสนใจในหลักสูตรนี้ เพราะเป็นที่ทราบทั่วกันว่าหลักสูตรนี้เป็นที่ต้องการของวงการแพทย์ทั่วโลก ทั้งยังสอนการผลิตสื่อการเรียนการสอนชนิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ และไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ด้วย

“โดยผู้ประเมินบอกว่าควรจะเผยแพร่หลักสูตรนี้ไปสู่ระดับนานาชาติ พร้อม ๆ กับสร้างหลักสูตรนี้ให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนมากขึ้น ผมมองว่าน่าจะเป็นที่ต้องการของระดับอาเซียน เอเชีย หรือแม้กระทั่งระดับโลก เพราะเราสามารถผลิตบัณฑิตที่จบออกไปทำงานยังต่างประเทศได้ เพราะการรับรองมาตรฐาน AUN-QA จะอยู่ได้ 5 ปี ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ”

“เพราะรอบสุดท้าย เราใช้เกณฑ์ AUN-QA เป็นตัวปรับหลักสูตร ฉะนั้น ความต่างระหว่างหลักสูตรเดิม และหลักสูตรใหม่จึงแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งหลักสูตรเดิมเราไม่ได้มองผลลัพธ์ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะมุ่งหวังที่จะให้นักศึกษาเรียนรู้สิ่งที่เราออกแบบให้ครบถ้วน และเชื่อว่าถ้าเด็กจบออกไปก็จะทำงานในวงการทางแพทย์ได้แค่เท่านั้น แต่หลังจากการนำเกณฑ์ AUN-QA เข้ามาประยุกต์ใช้ เราต้องมองย้อนหลังว่าความต้องการของตลาดแรงงานกลับต้องการความสามารถของบัณฑิตทางด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อทางการแพย์ หรือความรู้ทางการแพทย์”

“เนื่องจากตลอดเวลาผ่านมา ทุกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลลัพธ์ outcome-based education โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้บัณฑิตมีความรู้ในทักษะวิชาชีพ (รู้ลึก) และทักษะชีวิตและการทำงาน (รู้กว้าง) รวมถึงมีศักยภาพตามความต้องการของสังคมอนาคต อันเป็น talented citizen ที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้  เพราะนอกจากเราจะจัดการเรียนการสอน การวัด และการประเมินผลผู้เรียนให้ได้ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (expected learning outcomes) ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเรามีการนำเกณฑ์ AUN-QA มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรอย่างต่อเนื่องนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แท้จริงในการปรับปรุงหลักสูตรโดยใช้เกณฑ์ AUN-QA สิ่งสำคัญ คือ นักศึกษาที่เข้ามาเรียนจะเป็นคนได้รับผลประโยชน์ เพราะมหิดลมุ่งผลลัพธ์ของตัวบัณฑิตที่จบออกไป เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และสังคมโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/education/news-296898


จำนวนผู้อ่าน: 2536

05 มีนาคม 2019