นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส (ASP) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการงวดไตรมาส 1/62 (Q1) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) จำนวน 10 แห่ง คาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิรวม 44,292 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% เทียบกับไตรมาส 4/61 (QOQ) ที่มีกำไร 42,108 ล้านบาท แต่ลดลงกว่า 15.5% เทียบไตรมาสแรกปีก่อน (YOY) ที่มีกำไร 52,402 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วงวดไตรมาส 1 กลุ่มแบงก์ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การทำธุรกรรมโอนเงินอยู่ จึงมีฐานรายได้ดังกล่าวสูง ก่อนจะมีการยกเลิกเก็บค่าฟีในช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว
“ล่าสุดค่าฟีการขายประกัน ก็ได้รับแรงกดดันเช่นกัน เนื่องจากทางการหันมาควบคุมการขายอีก ส่วนรายได้จากดอกเบี้ย เรามองว่าปีนี้รายได้จากส่วนนี้จะเป็น “พระเอก” โดยประเมินว่าปีนี้สินเชื่อโตราว 5.7% ดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานน่าจะส่งผลบวกด้านสินเชื่อรายใหญ่แน่นอน” นางสาวอุษณีย์กล่าว
ส่วนประเด็นมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) ที่เริ่มบังคับใช้ 1 เม.ย. 62 นี้ ซึ่งจะดันให้สินเชื่อบ้านในไตรมาส 1/62 โตได้ดีจากการทยอยเร่งโอนบ้าน แต่ไม่ใช่การโตแบบ “โป่ง” หรือทะลุขึ้นมา เนื่องจากแบงก์คงควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อบ้านเช่นกัน แต่หลังมาตรการ LTV บังคับใช้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่สินเชื่อบ้านอาจหดตัวในไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของสินเชื่อแบงก์ยังเติบโตได้ดี โดยมีสินเชื่อรายใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อน
นางสาวอุษณีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของกลุ่มแบงก์ ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแต่ละแบงก์มีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในสินเชื่อบางประเภทที่ยังมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำผิดปกติอยู่ เช่น สินเชื่อบ้าน รถยนต์ และธุรกิจรายใหญ่ เป็นต้น ขณะที่ต้นทุนจ่ายจากดอกเบี้ยฝากของแบงก์ขยับขึ้น จึงคาดว่าปีนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยกู้และดอกเบี้ยฝาก (spread) น่าจะประคองตัวไปได้
นอกจากนี้ กลุ่มแบงก์ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี (IT) โดยเฉพาะตัวธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น ธ.กรุงไทย (KTB) และ ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ยังเร่งตัวขึ้น ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดจะยังประคองตัวได้ในกรอบ 3.3-3.4% ของสินเชื่อรวม จะส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) จะยังอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 150% อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงก์ยังมีความจำเป็นต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อรองรับการตัดหนี้สูญและรับมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) อีกด้วย
“โดยภาพรวมปีนี้ทั้งปี ผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ขยายตัว 0.9% จากปีที่แล้ว เนื่องจากฐานสูงจากปีที่แล้ว ธนาคารทหารไทยมีบันทึกรายการ “กำไรพิเศษ” จากการขาย บลจ.ทหารไทยออกไปราว 9.57 พันล้านบาท แต่หากเทียบจากกำไรจากผลดำเนินงานกลุ่มแบงก์ จะเห็นปีนี้โต 3.4%” นางสาวอุษณีย์กล่าว
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) หรือ RHB เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 4/61 (QOQ) เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง แต่จะลดลงเมื่อเทียบ YOY ซึ่งเป็นผลจากรายได้ค่าฟีที่มีฐานสูงของไตรมาสแรกปีก่อน รวมทั้งจะเห็นธนาคารหลาย ๆ แห่งทยอยตั้งสำรองสำหรับพนักงานที่เกษียณอายุตามกฎหมายใหม่กำหนด และยังมีค่าใช้จ่ายลงทุนด้าน IT อยู่
สำหรับการเติบโตของสินเชื่อโดยรวม คาดว่ายังทรงตัวจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนของการเมืองในประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก กระทบต่อการบริโภคอาจไม่ฟื้นตัว รวมถึงการส่งออกยังคงชะลอตัวเช่นกัน ส่วน NPL ประเมินว่าอาจเห็นการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
“และสุดท้าย NIM ของกลุ่มธนาคาร คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 3.1% เช่นกัน เนื่องจากในไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมา ธนาคารบางแห่งมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตาม เรามองไตรมาส 1/62 ของกลุ่มแบงก์ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา ถือเป็นไตรมาสที่ได้รับแรงส่งจากไตรมาส 4/61 ที่ฐานต่ำ แต่ก็มีแรงกดดันจากประเด็นการเลือกตั้งที่ยังไม่คลี่คลาย ส่วนตัวแปรของกำไรกลุ่มแบงก์จะเห็นในไตรมาส 2/62 เช่น การเร่งโอนบ้านก่อนมาตรการ LTV อาจส่งผลกระทบให้กำไรปรับตัวลง” นายธนเดชกล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-310233
จำนวนผู้อ่าน: 2213
03 เมษายน 2019