แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนการแข่งขันก็เปลี่ยนไป “ดุสิตธานี กรุงเทพฯ” จึงปิดตัวลง และเตรียมเกิดใหม่ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”
“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มดุสิตฯมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ให้สามารถแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนไปได้และกลับมาเป็นผู้นำตลาดได้อีกครั้ง จึงได้จับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้นำในการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ ทุ่มเงินลงทุนกว่า 36,700 ล้านบาท สร้าง “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค”
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการแบบผสมผสาน (mixed-use) พื้นที่รวม440,000 ตร.ม. บนที่ดินกว่า 23 ไร่ ภายใต้การเชิดชูความเป็นไทยบนมาตรฐานสากล และแนวคิด “Here for Bangkok”
เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ใน 4 ด้านได้แก่ 1.Here for Heritage & Innovation 2.Here for Unrivalled Connectivity 3.Here for a Lush Quality of Life และ 4.Here for Meaningful Experiences โดยเชื่อว่าโครงการจะยังผลให้เกิดซูเปอร์คอร์ซีบีดี (Super Core CBD)ที่เชื่อมโยง 4 ย่านสำคัญ ได้แก่ ย่านราชประสงค์ ย่านเจริญกรุง ย่านสุขุมวิท และย่านเยาวราช ทำให้เกิดเป็น “The New Junction” ที่เชื่อมโยงหลายย่านสำคัญของกรุงเทพฯ เข้าด้วยกัน
โดยโครงการจะประกอบด้วย 3 อาคารที่ถูกเชื่อมโยงกันด้วยหนึ่งฐานราก และเป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถเชื่อมต่อกับการจราจรทุกระนาบ ตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ตลอดจนการจราจรบนท้องถนน และทุกอาคารสามารถมองเห็นวิวสวนลุมพินีได้อย่างชัดเจนไร้การบดบัง
“ศุภจี” ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” โรงแรมใหม่ในชื่อเดิมจะเป็นโรงแรมขนาด 250 ห้องที่มีความสูง 39 ชั้นซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเก็บเรื่องราว องค์ประกอบสำคัญของโรงแรมดุสิตธานีเดิมเอาไว้ ตั้งแต่การออกแบบ การนำชิ้นส่วนเอกลักษณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความภาคภูมิใจในการบริการที่น่าประทับใจแบบไทยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และจะเปิดให้บริการก่อนส่วนอื่น ซึ่งเชื่อว่าแม้จะมีจำนวนห้องลดลงกว่าครึ่ง แต่ห้องที่ถูกสร้างใหม่ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้นจะสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าเดิม ด้านอาคารที่พักอาศัยนั้นมีความสูง
69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต บนพื้นที่ 80,000 ตร.ม. ซึ่งแบ่งเป็น ดุสิต เรสซิเดนเซส(Dusit Residences) จำนวน 159 ยูนิต สำหรับกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิกเหนือกาลเวลา และรักความเป็นส่วนตัว รวมถึงครอบครัวขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และ ดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside)ดีไซน์โมเดิร์นเหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง จำนวน 230 ยูนิต สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก โดยลักษณะของอาคารเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาว หรือลีสโฮลด์ ทำให้ราคาสามารถเอื้อมถึงได้ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้จองภายในกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ต้องปิดตัวก็เท่ากับว่ากลุ่มดุสิตฯ จะต้องสูญเสียรายได้จากโรงแรมดังกล่าวไปในระยะเวลาหนึ่ง แต่ทางกลุ่มได้เตรียมความพร้อมเพื่อที่จะสร้างสมดุลทางด้านรายได้แล้ว
โดยการเข้าบริหารโรงแรมในรูปแบบเช่า (lease model) ในโครงการที่พร้อมดำเนินการ เพื่อรับผลตอบแทนมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการบ้านราชประสงค์ และโครงการป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งคาดการณ์ว่าจากการลงทุนและบริหารงานทั้งหมดจะทำให้รายได้ปีนี้ของเครือดุสิตฯ เติบโต 8-10%
สำหรับอีก 2 ยูสนั้นจะดำเนินการโดย “เซ็นทรัลพัฒนา” ภายใต้แบรนด์ “เซ็นทรัล พาร์ค” (Central Park) นั้น ประกอบไปด้วยเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส(Central Park Offices) อาคารออฟฟิศที่พัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงความสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน บนพื้นที่ 90,000 ตร.ม. และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค (Central Park) ซึ่งจะนำเสนอประสบการณ์รีเทลแห่งอนาคต ขนาด 7 ชั้น บนพื้นที่กว่า 80,000 ตร.ม. และเป็นตัวเชื่อมโยงทุกยูสของโครงการเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็น New Urbanised Lifestyleระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-311107
จำนวนผู้อ่าน: 2438
04 เมษายน 2019