ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” เป็นที่จับตามองด้วยศักยภาพของรถยนต์อีวีที่ตอบโจทย์กระแสรักษ์โลก ลดการปล่อยมลพิษ และค่ายรถยนต์ก็ตอบรับผลิตรถออกมาในตลาดมากขึ้น นักวิเคราะห์มองว่ายอดขายรถอีวีอาจจะพุ่งขึ้นสูงถึง 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในอีก 10 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การใช้งานรถอีวีในปัจจุบันยังมีสัดส่วนที่ต่ำ รายงานจาก “เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรั่ม” (WEF) ระบุว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์อีวีทั่วโลกในปี 2018 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.4% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด
สาเหตุสำคัญมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานรถยนต์อีวี โดยเฉพาะสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ใช้รถเกิดความไม่มั่นใจ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้มีส่วนในการออกนโยบายเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์อีวี ในการเพิ่มจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้าอย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นในด้านอื่น ๆ
เช่น รัฐบาลท้องถิ่นของ “ฮ่องกง” ที่มีการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์อีวี ด้วยการเพิ่มจุดชาร์จพลังงาน อีกทั้งยังเชื่อมต่อระบบการจ่ายเงินค่าพลังงานไฟฟ้าเข้ากับระบบจ่ายเงินค่าขนส่งสาธารณะ ซึ่งเรียกว่า octopus เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
นอกจากนี้ รายงานของ WEF ระบุถึง “พฤติกรรมของผู้ใช้” ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ เพราะส่วนมากยังนิยมใช้งานเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิม การเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนจึงเป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน
ขณะเดียวกัน WEF ก็มีรายงานเรื่อง “The dirty secret of Electric Vehicles” ที่เปิดด้านมืดในกระบวนการผลิตรถยนต์อีวี จากกรณีที่ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการใช้แรงงานเด็ก ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ “โคบอลต์” (cobalt) วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีวี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า คนงานเหมืองแร่โคบอลต์ในประเทศคองโก มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเดินหายใจจากฝุ่น โดยผลวิจัยพบว่า คนงานที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น และได้รับค่าแรงเพียงวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ทำให้หลายประเทศเริ่มมีการออกกฎห้ามการซื้อขายโคบอลต์ที่มีกระบวนการผลิตที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งส่งเสริมการรีไซเคิลเพื่อลดการนำเข้าโคบอลต์ใหม่ ๆ ด้วย
ดังนั้น “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่ถูกเรียกว่าเป็นรถพลังงานสะอาด ที่ทั้งค่ายรถและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างให้การตอบรับ หวังจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า กว่าจะมาเป็นรถยนต์พลังงานสะอาด ในขั้นตอนกระบวนการผลิต โดยเฉพาะแบตเตอรี่นั้นก็สร้างทั้งมลพิษ และปัญหาการใช้แรงงานเด็กจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และยังไม่ได้พูดถึงหลังจากแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน วิธีการทำลายหรือรีไซเคิล แล้วเช่นนั้นอีวีจะยังเป็นรถยนต์พลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษให้กับโลกจริงหรือ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-311122
จำนวนผู้อ่าน: 2286
04 เมษายน 2019