แฟ้มภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่าทเงินบาทอ่อนค่ากลับมาเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังตลาดในประเทศกลับมาเปิดทำการจากช่วงวันหยุดยาว โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด (อาทิ ยอดขาดดุลการค้าที่ลดลงในเดือนก.พ. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ยังคงปรับตัวลงตลอด 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา และยอดค้าปลีกในเดือนมี.ค. ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น)
ในวันศุกร์ (19 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 31.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 เม.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.60-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องติดตามตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมี.ค. ปัจจัยการเมืองในประเทศ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตลอดจนความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. และข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 1/2562 (advanced)
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,674.10 จุด เพิ่มขึ้น 0.82% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 12.43% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 45,444.22 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 1.28% มาปิดที่ 368.48 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ ตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบัน แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักของโลก อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,665 และ 1,655 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2562 ของบริษัทจดทะเบียนไทย ปัจจัยการเมืองในประเทศ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2562 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนมี.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ของญี่ปุ่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-317232
จำนวนผู้อ่าน: 2260
22 เมษายน 2019