“ล็อตเต้” ซุ่มผนึกหมอเสริฐ ชิงเค้กดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิแสนล้าน

ขาใหญ่เปิดศึกประมูลดิวตี้ฟรี “สุวรรณภูมิ” มูลค่ากว่าแสนล้านเดือด “ล็อตเต้” ดิวตี้ฟรีเบอร์ 3 โลกซุ่มร่วมทุน “บางกอกแอร์เวย์ส” ของหมอเสริฐ ท้าชน “คิง เพาเวอร์” หลังพลาดโปรเจ็กต์ “อู่ตะเภา” ฟาก “คิง เพาเวอร์” เล่นใหญ่ใช้ทีมที่ปรึกษาต่างชาติวางแผนทั้งหมด จับตากลุ่ม “รอยัล ออคิด” เครือข่ายธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค โดดร่วม

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติตามที่อนุกรรมการด้านกฎหมายเสนอว่า กิจการดิวตี้ฟรี หรือร้านค้าปลอดอากร ไม่ถือว่าเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น จึงไม่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย PPP แต่เป็นการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เอง ส่งผลให้กระบวนการการประมูลของ ทอท.ที่ได้ขายซองทีโออาร์ไปแล้วนั้นสามารถเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ต่อไป

โดย ทอท.ได้ปิดขายซองทีโออาร์เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการที่ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี 5 ราย ประกอบด้วย บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บจก.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บมจ.การบินกรุงเทพ และ บมจ.โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ส่วนผู้ประกอบการที่ซื้อซองประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ มี 4 ราย ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา, บจก.คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ บจก.เดอะมอลล์ กรุ๊ป

ตามเงื่อนไขผู้ที่จะยื่นซองต้องแจ้งรายชื่อ joint venture ที่จะร่วมประมูลกับ ทอท. ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม และกำหนดยื่นซองประมูลวันที่ 22 พฤษภาคม และประกาศผลผู้ชนะการประมูล 31 พฤษภาคม 2562 ขณะที่สัญญาสัมปทานของคิง เพาเวอร์ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.ย. 2563

ขาใหญ่เตรียมพร้อมเต็มที่

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการดิวตี้ฟรีรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเดิมที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมน่าจะยังคงรักษาพื้นที่ไว้ได้ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่ได้เปรียบในหลายประเด็นนั้น หลังจากเห็นรายชื่อผู้ซื้อซองประมูลทั้งในส่วนของร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว คาดการณ์ว่าการประมูลทั้ง 2 สัญญาแข่งขันกันดุเดือดแน่นอน

และเชื่อว่าการได้มาซึ่งสัมปทานของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในรอบนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องง่ายนัก เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่

 

บางกอกแอร์เวย์สผนึก “ล็อตเต้”

แหล่งข่าวระบุว่า ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่ากลุ่ม บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้เจรจาร่วมทุน 51% กับบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมทั้งเป็นแกนนำในการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ และรุกเข้าสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายทั้งดิวตี้ฟรีในสนามบินหลักในกรุงเทพฯ และสนามบินหลัก ๆ ในภูมิภาค รวมถึงดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีด้วย

“ก่อนหน้านี้ประเมินกันว่า คู่แข่งสำคัญของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในรอบนี้คือ กลุ่มเซ็นทรัล แต่หลังจากที่ทราบข่าวว่า กลุ่มบางกอกแอร์เวย์สซุ่มผนึกกำลังกับกลุ่มล็อตเต้ วงในจึงคาดกันว่า คู่แข่งสำคัญ ในรอบนี้กลายเป็นกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส”

เดิมทีกลุ่มล็อตเต้ซึ่งเป็นดิวตี้ฟรีสัญชาติเกาหลีเบอร์ 3 ของโลก ได้เข้าไปเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ ของคุณชฎาทิพ จูตระกูล เนื่องจากกลุ่มสยามพิวรรธน์อยากได้ล็อตเต้ดิวตี้ฟรีไปเปิดในโครงการไอคอนสยาม แต่สุดท้ายการเจรจาไม่ลงตัว ทางกลุ่มล็อตเต้จึงได้ไปเจรจากับกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส กระทั่งได้ข้อสรุปออกมา

แข่งทั้งสนามบิน-ดาวน์ทาวน์

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กลุ่มบางกอกแอร์เวย์สยังมีแผนที่จะร่วมประมูลดิวตี้ฟรีของ 3 สนามบินภูมิภาคด้วย คือ สนามบินภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ (สงขลา) ซึ่ง ทอท.ได้แยกสัญญาประมูล เนื่องจากทั้งล็อตเต้และบางกอกแอร์เวย์สนั้นพลาดการประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินอู่ตะเภาไป เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเตรียมแผนรุกธุรกิจดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี ภายใต้แบรนด์ “ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” อย่างจริงจัง

“เซ็นทรัล” ดึงมือดีคุมโปรเจ็กต์

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มเซ็นทรัลนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งโครงการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ได้มอบหมายให้ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเป็นอดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลโปรเจ็กต์นี้

“เซ็นทรัลน่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองสำหรับการประมูลครั้งนี้พอสมควร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ส่งผู้บริหารระดับสูงเข้าไปนั่งเป็นนายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ติดต่อกันมาหลายปี ตั้งแต่ คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ และล่าสุดคือ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ซึ่งทั้ง 2 คนออกมาผลักดันเรื่องการเปิดเสรีธุรกิจดิวตี้ฟรี และเรียกร้องให้การประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้เป็นการประมูลตามแคทิกอรี่สินค้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะประเมินแล้วว่า หาก ทอท.แบ่งประมูลตามประเภทสินค้า กลุ่มเซ็นทรัลน่าจะมีโอกาสมากกว่าการประมูลรวมรายเดียว”

ขณะที่แหล่งข่าวกลุ่มเซ็นทรัลกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปบริหารพื้นที่โครงการร้านค้าและบริการ ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ในนามเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยม (กิจการร่วมทำงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์) ซึ่งจากที่เปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมา การตอบรับจากลูกค้าเป็นไปอย่างดี

ในส่วนของการประมูลพื้นที่สนามบิน หรือพื้นที่ดิวตี้ฟรีอื่น ๆ นั้น ยังคงต้องรอบอร์ดบริหาร ซึ่งมี คุณทศ จิราธิวัฒน์ เป็นคนสรุปว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะมีทิศทางอย่างไร จะไปกับกลุ่มพันธมิตรเดิมหรือไม่

คิง เพาเวอร์ ใช้ทีม ตปท.

แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้เตรียมการสำหรับการประมูลรอบใหม่ล่วงหน้ามานานแล้ว โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในต่างประเทศทำการวิเคราะห์ ศึกษาข้อมูล รวมถึงทำแผนสำหรับการประมูลครั้งนี้ทั้งหมด ทั้งในส่วนการประมูลดิวตี้ฟรี ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สุวรรณภูมิ และประมูลดิวตี้ฟรี 3 สนามบินในภูมิภาคด้วย

โดยเฉพาะ 2 โครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นโครงการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และทำรายได้หลักให้กับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในสัดส่วนที่มากที่สุด ทำให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ต้องรักษาพื้นที่เดิมของตัวเองไว้ให้ได้

ไมเนอร์โดดร่วมวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีประสบการณ์ในการขยายธุรกิจร้านอาหารในสนามบิน ผ่านบริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินในหลากหลายประเทศภายใต้แบรนด์ต่าง ๆ เป็นที่น่าจับตาเพราะได้มีการซื้อซองทีโออาร์ทั้งในส่วนของพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์

สำหรับ บมจ.โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) ที่ซื้อซองประมูลดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ เป็นบริษัทในเครือ บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจกับ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ของนายชายนิด อรรถญาณสกุล

ถอดรหัสเงื่อนไขชิงดำ

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนั้นแบ่งเป็น ข้อเสนอด้านเทคนิค 80% และข้อเสนอด้านราคา 20% โดยข้อเสนอด้านเทคนิคได้แบ่งออกเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ 1.ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจ 15 คะแนน 2.แผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอาการ และแผนการตลาด 40 คะแนน 3.แผนธุรกิจประมาณการรายได้และประมาณการกำไรขาดทุน รวมถึงความสามารถชำระหนี้ 25 คะแนน และ 4.ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี เสนอให้ ทอท. 20 คะแนน

โดยประเด็นนี้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นการพิจารณาด้านเทคนิคและราคาต้องสัมพันธ์กัน โดยให้น้ำหนักกับคะแนนเทคนิค 80% เนื่องจาก ทอท.เชื่อว่า เทคนิคที่ดีจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่ดีด้วย

“รายละเอียดด้านเทคนิคเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ ทอท.มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้เข้าประมูลแต่ละรายช่วยให้ความมั่นใจเรานิดหนึ่งว่า แผนธุรกิจสามารถการันตีรายได้ให้ ทอท.ได้ปีละเท่าไหร่ ซึ่งเป็นตัวหนึ่งที่ใช้ชี้วัดความมั่นใจในการเข้ามาทำธุรกิจของผู้เข้าร่วมประมูล นี่คือเหตุผลที่เราต้องพิจารณาด้านเทคนิคกับราคาพร้อมกัน” นายนิตินัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลประกอบการของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ในปี 2560 มีรายได้ 3.5 หมื่นบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากรายได้ในส่วนของดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ ขณะที่การประมูลครั้งนี้มีอายุสัมปทาน 10 ปี โดยคาดว่ามีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-317672


จำนวนผู้อ่าน: 1991

22 เมษายน 2019