คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต
ไม่ใช่แค่สร้างกันมาราธอนอย่างเดียว
ล่าสุด กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ทุบสถิติขอเพิ่มงบประมาณก่อสร้างบ่อยที่สุดถึง 5 ครั้ง สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 26 กม. มี “ร.ฟ.ท.การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ดำเนินการ ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นมีหลายสาเหตุ ย้อนไป ครั้งแรกเมื่อปี 2552 เพิ่ม 15,660 ล้านบาท จาก 59,888 ล้านบาท เป็น 75,548 ล้านบาท หลังแบบก่อสร้างฉบับเดิมที่บริษัทที่ปรึกษาคำนวณไว้ไม่สอดคล้องกับต้นทุนในขณะนั้น
ถัดมาปี 2555 ขยับเพิ่มเป็นครั้งที่ 2 อยู่ที่ 80,375 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาเสนอราคาประมูลทั้ง 3 สัญญา เกินจากกรอบราคากลาง ทำให้ “ร.ฟ.ท.” ขอขยายกรอบวงเงินเพิ่ม 4,827 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 ในปี 2558 ขอเพิ่ม 8,104 ล้านบาท หลังปรับแบบก่อสร้าง “สถานีกลางบางซื่อ” ส่วนของชานชาลาสถานีและโครงการทางให้รองรับกับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในอนาคต ทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มอยู่ที่ 88,479 ล้านบาท
ครั้งที่ 4 ในปี 2559 เกิดจากผลเจรจาประมูลสัญญาที่ 3 กับกลุ่มร่วมค้า MHSC (มิตซูบิชิ เฮฟวี่-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งติดหล่มการประมูลอยู่นานนับปีกว่าจะเคาะราคาสุดท้ายที่ 32,399 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากเดิม 25,656 ล้านบาท อีก 6,743 ล้านบาท ทำให้ค่าก่อสร้างโครงการเพิ่มเป็น 95,222 ล้านบาท
ล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า กำลังจะขอเพิ่มอีกเป็นครั้งที่ 5 กว่า 9,000 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.แล้ว อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอ ครม. เพื่อขอขยายกรอบวงเงินเพิ่ม ซึ่งขอเป็นกรอบไว้แต่เวลาเบิกงบประมาณใช้จริงอาจจะไม่ถึงก็ได้
“วงเงินที่เพิ่มมามีหลายส่วน เช่น มีการปรับสร้างรางเพิ่มจาก 3 ราง เป็น 4 ราง ผู้รับเหมาขอค่าชดเชยขยายเวลา ภาษีนำเข้ารถ เป็นต้น”
รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาขอค่าชดเชยจากการขยายเวลาก่อสร้าง เนื่องจากโครงการนี้ใช้เงินกู้จากไจก้า (องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น) ในสัญญาระบุให้ผู้รับเหมาเรียกค่าชดเชยได้ หากมีการขยายเวลาก่อสร้าง
แยกเป็นสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้างขอขยายเวลาถึงเดือน พ.ย. 2562 ขอค่าชดเชยประมาณ 3,000 ล้านบาท
เพราะมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างของ ร.ฟ.ท.ออกจากพื้นที่และปลูกสร้างขึ้นใหม่ขึ้นมาแทน เช่น ย้ายตึกบริการสินค้า เนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้อยู่ในการดำเนินการตั้งแต่แรก
และสัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้าม มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ขอขยายถึงเดือน ก.ย. 2562 เนื่องจากติดส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสกายวอล์ก ขอค่าชยเชยประมาณ 1,000 ล้านบาท
เมื่อรวม 5 ครั้งที่สะสมมา เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต ที่ใช้เวลาก่อสร้างมาถึงปีที่ 6 ได้ใช้เงินก่อสร้างรวมกว่า 104,222 ล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าติดตามต่อไป นั่นคือไทม์ไลน์การเปิดบริการที่ ร.ฟ.ท.ย้ำหมุดหนักหนาจะเปิดในเดือน ม.ค. 2564 จะยังเป็นไปตามเป้าหรือเจอโรคเลื่อน เพราะดูจากที่ของบประมาณเพิ่มแล้ว ไม่รู้ยังมีเนื้องานใหม่งอกขึ้นมาระหว่างทางอีกหรือไม่
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-325213
จำนวนผู้อ่าน: 2132
10 พฤษภาคม 2019