คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย ไพโรจน์ พงศ์พานิชย์
“ไอดีซี” บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เผยแพร่ตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 นี้ออกมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม มีหลายประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
ประเด็นแรกสุดก็คือ “ยอดขาย” ที่ประเมินจากปริมาณสมาร์ทโฟนที่บริษัทส่งมอบออกไป หรือที่เรียกว่ายอดชิปเมนต์นั้น เมื่อรวมกันทั่วโลกแล้วตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ ขายได้เพียง 310.8 ล้านเครื่อง เมื่อเทียบกับยอดในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาแล้ว ลดลงมากถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์
ยอดชิปเมนต์สมาร์ทโฟนโดยภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตแทบทุกรายกำลังประสบปัญหายุ่งยาก จะมีข้อยกเว้นอยู่เพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นคือ “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ยอดชิปเมนต์เพิ่มขึ้นมากถึง 50.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบไตรมาสแรกของปีนี้กับปีที่ผ่านมา ทำยอดได้ถึง 59.1 ล้านเครื่อง
ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนจากหัวเว่ย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 11.8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 19 เปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งโลกในปีนี้ ยึดอันดับ 2 ของตลาดสมาร์ทโฟนไปจากยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว
เหตุผลที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่แอปเปิล มีเพียงแค่ไอโฟน ซึ่งถือเป็นสมาร์ทโฟนระดับพรีเมี่ยมในตลาดเท่านั้น หัวเว่ย มีสมาร์ทโฟน วางจำหน่ายในทุกเซ็กเมนต์ของตลาด ทั้งที่เป็นพรีเมี่ยม ระดับกลางและระดับล่าง สมาร์ทโฟนในระดับมิดเรนจ์ และระดับโลว์เอนด์ นี่แหละที่ทำยอดขายให้กับหัวเว่ยได้เป็นกอบเป็นกำ ในการสำรวจของไอดีซี
แม้จะขยายตัวได้น่าประทับใจ ปริมาณขายของหัวเว่ยยังคงเป็นรองเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนโลกอย่าง “ซัมซุง” อยู่ดี เพราะถึงแม้ว่าจะทำยอดโดยรวมได้ต่ำลงในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ซัมซุงยังมียอดชิปเมนต์อยู่มากถึง 71.9 ล้านเครื่อง และยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ถึง 23.1 เปอร์เซ็นต์
ซัมซุงอ้างว่า กาแล็คซี่ เอส 10 ของตนเองทำยอดขายได้ดีทีเดียวในช่วงไตรมาสแรก แต่ไอดีซีชี้ให้เห็นว่า รายได้ของซัมซุงที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีกำไรเพียง 6.2 ล้านล้านวอน หรือราว 5,300 ล้านดอลลาร์ ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 14 เปอร์เซ็นต์
แต่ไอดีซีคาดว่า ซัมซุง น่าจะทำยอดขายได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งจากการวางตลาด กาแล็คซี่ เอส 10 รุ่นที่รองรับ 5 จี ซึ่งในเวลานี้วางจำหน่ายเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ แต่จะขยายไปยังสหรัฐอเมริกาในอีกไม่ช้าไม่นาน เพราะมีการเปิดรับ “พรีออร์เดอร์” ที่นั่นกันแล้ว รวมถึงการวางขายอย่างจริง ๆ จัง ๆ ของกาแล็คซี่ โฟลด์ ที่ต้องชะลอออกไปอยู่ในเวลานี้
ผู้ผลิตรายใหญ่ที่ย่ำแย่ที่สุดจากตัวเลขการสำรวจของไอดีซีก็คือ แอปเปิล อิงก์ ที่แม้จะยังครองตลาดสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 3 อยู่ แต่มาร์เก็ตแชร์ก็หดเล็กลงมาจาก 15.7 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 11.7 เปอร์เซ็นต์ ยอดชิปเมนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019 ลดลงมาอยู่ที่ 36.4 ล้านเครื่อง ซึ่งเมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ซึ่งทำยอดไว้ได้สูงถึง 52.2 ล้านเครื่องก็เท่ากับว่า ยอดหายไปมหาศาลถึง 30.2 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ตัวเลขของไอดีซีแสดงให้เห็นว่า ในเวลานี้ผู้ผลิตจะมุ่งโฟกัสอยู่ที่พรีเมี่ยมสมาร์ทโฟนเพียงอย่างเดียวเห็นทีจะลำบากมากขึ้น เพราะตลาดพรีเมี่ยมแข่งขันกันสูงมากและยิ่งนับวันจะยิ่งยากมากขึ้นที่ผู้ผลิตจะหาหนทางทำให้สมาร์ทโฟนของตนเองโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ
เมื่อผสมกับข้อเท็จจริงที่ว่า ราคาพรีเมี่ยมสมาร์ทโฟนแต่ละค่ายขยับขยายปรับตัวสูงขึ้นทุก ๆ ปี ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องตัดใจ ถือสมาร์ทโฟนในมือไว้นานขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเปลี่ยนใหม่ทุกปี หรือไม่อย่างนั้นก็หันไปหาสมาร์ทโฟนระดับรองลงมา ในช่วงมิดเรนจ์แทน
ข้อสรุปที่ว่านี้ สอดคล้องกับความเห็นของ “รูท พอแรท” ซีอีโอของกูเกิล ที่ยอมรับเมื่อไม่นานมานี้ว่า ยอดขายพิกเซล 3 พรีเมี่ยมสมาร์ทโฟนของกูเกิล ลดลงมาตั้งแต่ปี 2018 เป็นเพราะ “แรงกดดันเมื่อเร็ว ๆ นี้ในตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมี่ยม” และเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุให้กูเกิลเตรียมวางจำหน่าย
“มิดเรนจ์” สมาร์ทโฟนของตัวเองออกมาในไลน์ของพิกเซล อาทิ พิกเซล 3 เอ และพิกเซล 3 เอ เอ็กซ์แอล ในเร็ว ๆ นี้
ตัวอย่างของความสำเร็จจากหัวเว่ย ที่อาศัยมิดเรนจ์ และโลว์เอนด์สมาร์ทโฟน เข้ามาชดเชยยอดขายในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมที่ขาดหายไป ทำให้หลาย ๆ แบรนด์ เริ่มขยับตัวออกมาในแนวนี้แล้วเช่นกัน
นอกจากพิกเซล 3 เอ ที่ว่าแล้ว ซัมซุงเองก็เริ่มเน้นให้ความสำคัญกับสมาร์ทโฟนกาแล็คซี่ เอ ของตนเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-325217
จำนวนผู้อ่าน: 2161
10 พฤษภาคม 2019