“ไทยเบฟ” จัดทัพรุกฟู้ดเต็มสูบ ตั้ง 6 บริษัทย่อย/ซื้อแบรนด์ใหม่เติมพอร์ต

“ไทยเบฟ” รุกตั้ง 6 บริษัทลูก-ร่วมทุน ซัพพอร์ตธุรกิจ F&B ก่อนเดินหน้าช็อปแบรนด์ใหม่ “เกนกิ ซูชิ” เติมพอร์ตอาหารไม่หยุด พร้อมเร่งซินเนอร์ยี-ขยายสาขาแบรนด์อื่นในเครือต่อเนื่อง หลังจากต้นปีนำร่องเปิดฟู้ดโซน ข้างอาคารแสงโสม ตึกบัญชาการใหญ่ โชว์โมเดลร้านใหม่ “คาคาชิ-โซ อาเซียน คาเฟ่-เอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่” ผุดสแตนด์อะโลนโรดไซด์ครั้งแรก รับเป้าโตต่อเนื่อง-ดันรายได้น็อนแอลกอฮอล์แตะ 50% ตามวิชั่น 2020

เห็นได้ชัดว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเบฟกำลัง “เอาจริง” กับธุรกิจฟู้ดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพาร์ตเนอร์รายใหญ่จากฮ่องกง แม็กซิม กรุ๊ป รุกธุรกิจเบเกอรี่ การซื้อกิจการของฮาวี โลจิสติกส์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการขนส่งแบบ cold chain เพื่อซัพพอร์ตธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ไปจนถึงบิ๊กดีลในการเข้าซื้อกิจการของเคเอฟซีในไทย 240 สาขา ด้วยงบฯลงทุนกว่า 1.13 หมื่นล้านบาท รวมถึงกลุ่มร้านอาหารไทย สไปซ์ออฟเอเชีย ทำให้ได้แบรนด์เข้ามาเสริมพอร์ตเพิ่มอีก 4 แบรนด์ และแบรนด์ใหม่ล่าสุด “เกนกิ ซูชิ” ที่ซื้อเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เติมพอร์ตโฟลิโอแบบไม่หยุด

ตั้งรวดเดียว 6 บริษัท

รายงานจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ระบุถึงการตั้งบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร (F&B) ทั้งหมด 6 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นการตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อลงทุน แบ่งเป็น 4 บริษัทที่จัดตั้งในเดือนมีนาคม ได้แก่ บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท กรีน บีน จำกัด โดยทั้ง 2 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท บริษัท เอฟแอนด์เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท เอฟแอนด์เอ็น รีเทล คอนเนคชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และ 18 ล้านบาท ตามลำดับ

และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่เพิ่มอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจแปนนิส ไดนนิ่ง คอนเซ็ปตส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท เกนกิ ซูชิ (ไทยแลนด์) จำกัด ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท และ 50 ล้านบาท ตามลำดับ โดยการตั้งบริษัทย่อยนี้ยังเป็นการเข้าซื้อกิจการของร้านอาหารญี่ปุ่น รูปแบบซูชิสายพาน “เกนกิ ซูชิ”

แบรนด์ใหม่ เกนกิ ซูชิ

สำหรับการเข้าซื้อแบรนด์เกนกิ ซูชิ ได้จัดตั้งบริษัท เกนกิ ซูชิ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยเจแปนนีส ไดนนิ่ง คอนเซ็ปตส์ (ไทยแลนด์) 51% เกนกิ ซูชิ สิงคโปร์ 48.99% เจแปนนีส ไดนนิ่งคอนเซ็ปตส์ (เอเชีย) 0.00002% ซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เกนกิ ซูชิ บางกะปิ ในจำนวนเงิน 9.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

โดยเกนกิ ซูชิ เป็นร้านซูชิสายพานจากญี่ปุ่น ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จากนั้นได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อเมริกา และไทย ชูจุดขายความสดใหม่ เนื่องจากเชฟจะปั้นซูชิก็ต่อเมื่อลูกค้าทำการสั่งผ่านแท็บเลตเท่านั้น และราคาที่สามารถเข้าถึงได้ เริ่มต้นจานละ 35 บาท ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันมี 1 สาขา ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยเบฟยังเปิดตัวโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “food zone” ข้างตึกแสงโสม สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นพื้นที่สำหรับสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลน โรดไซด์ จำนวน 4 แบรนด์ อาทิ เคเอฟซี, คาคาชิ, โซอาเซียน คาเฟ่ และเอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่ ถือเป็นครั้งแรกของแบรนด์ต่าง ๆ ยกเว้นเคเอฟซี ที่เปิดร้านโมเดลนี้

ปี”61 โตพรวดเกือบ 100%

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายงานประจำปี 2561 ของบริษัทว่า รายได้จากธุรกิจอาหารในปีที่ผ่านมา เติบโตขึ้น 96.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6% ของรายได้ทั้งหมด 2.3 แสนล้านบาท โดยการเติบโตหลัก ๆ มาจากการซื้อกิจการแฟรนไชส์เคเอฟซีในประเทศไทย 240 สาขา ตลอดจนการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา จากปี 2560 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหาร ประมาณ 7.6 พันล้านบาท คิดเป็น 4% ของรายได้ทั้งหมด 1.9 แสนล้านบาท

สำหรับธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟ ประกอบด้วย 1.กลุ่มธุรกิจอาหารของโออิชิ แบ่งเป็น ร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นกว่า 250 สาขา ได้แก่ โออิชิ แกรนด์, ชาบูชิ, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ และอาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน

2.กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของฟู้ดออฟเอเชีย แบ่งเป็น ร้านภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อาทิ ฟู้ด สตรีท, โซ อาเซียน คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอร์รองท์, ไฮด์ แอนด์ ซีค, หม่านฟู่ หยวน, บ้านสุริยาศัย ร้านที่เป็นการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่, คาเฟ่ ชิลลี่, พอท มินิสทรี, เสื้อใต้ และอีท พอท และร้านที่เป็นแฟรนไชซี ได้แก่ เคเอฟซี

สานวิชั่นน็อนแอลกอฮอล์

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเข้ามาเสริมทัพกลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ให้เติบโตไปตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่วางเอาไว้ คือ มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ตผ่านกลยุทธ์ความหลากหลาย โดยร้านอาหารของไทยเบฟจะครอบคลุมตั้งแต่สตรีตฟู้ด ไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกไลฟ์สไตล์

ทั้งนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาและพัฒนาร้านในโมเดลต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างแบรนด์ใหม่ การร่วมทุน และการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-325232


จำนวนผู้อ่าน: 2247

10 พฤษภาคม 2019