ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
งานประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่อยู่ระหว่างการพึ่งอำนาจศาลปกครอง เนื่องจากกลุ่ม บจ.ธนโฮลดิ้ง (เครือ ซี.พี.) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้สนใจประมูลยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีบริษัทยื่นเอกสารประมูล “ไม่ทันเวลา” ซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาคัดเลือกนั้น
ศาลปกครองยืดเวลา 7 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดศาลปกครองได้นัดให้คำชี้แจงไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา และอนุญาตให้ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมภายใน 7 วัน
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินเป็นโครงการขนาดใหญ่บนเนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าลงทุน 290,000 ล้านบาท มีกองทัพเรือเป็นเจ้าภาพดำเนินการ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจทำให้การดำเนินงานไม่ทันตามไทม์ไลน์ที่วางไว้
โดยมีรายละเอียดในส่วนของผู้เข้าร่วมยื่นซอง 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ.การบินกรุงเทพ, กลุ่ม บจ.GMR Group Airport ประเทศอินเดีย และกลุ่ม บจ.ธนโฮลดิ้ง (เครือ ซี.พี.) ร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง, บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์ และ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide พันธมิตรจากประเทศเยอรมนี
ซิวงานโรงไฟฟ้านอกสนามบิน
เรื่องเดียวกันนี้ นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของการร่วมลงทุนโครงการอู่ตะเภา ซึ่งกลุ่ม บี.กริม เป็นหนึ่งในพันธมิตรกับ ซี.พี. มองว่าประเด็นนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้า เพราะถือเป็นคนละส่วนกัน กล่าวคือทาง บี.กริม ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากกองทัพเรือ ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระบบไฮบริด และระบบกักเก็บไฟฟ้าพื้นที่ส่วนนอกสนามบินเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนเตรียมเซ็นสัญญา (PPA) ซึ่งไม่ว่าใครจะเข้ามาลงทุนในโครงการสนามบินอู่ตะเภา บริษัทก็ยังสามารถเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าต่อไปได้
“เราร่วมบิดงานกับ ซี.พี. ใครก็รู้ว่าถ้า ซี.พี.ได้ เราก็ได้ แต่หากมีอุบัติเหตุ (ในการประมูล) เกิดขึ้นก็เป็นส่วนของกิจการร่วมลงทุน เพราะสัญญาแยกกันชัดเจน บี.กริมได้รับสิทธิ์ก่อสร้างไปถึงปากประตูสนามบินแล้วทำไมในสนามบินจะไม่ทำต่อ เหตุผลที่ร่วมกับ ซี.พี.เพื่อจะบอกว่าถึงอย่างไรเราขอได้รับสิทธิ์ตรงนี้ ไม่ต้องไปเปิดประมูลซ้ำ เรามี competitive price และมั่นใจว่าหากก่อสร้างอู่ตะเภาจะเป็นผลดีมาก เพราะพันธมิตรเยอรมันเป็นผู้เชี่ยวชาญ เคยบริหารสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต มีประสบการณ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะชนะหรือไม่”
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าส่วนนอกสนามบินนั้น ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอทำสัญญา PPA กับกองทัพเรือ ตามแผนเดิมตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมีนาคม 2562 แต่เนื่องจากยังไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงาน EEC จึงต้องขยับเวลาก่อสร้างออกไปเล็กน้อย โดยคาดว่าสามารถทำสัญญาเช่าที่ดินได้ในเดือนมิถุนายน 2562 จากนั้นบริษัทมีความพร้อมเริ่มก่อสร้างได้ทันที
ตามกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จใน 12 เดือน โดยเฟส 1 คาดว่าเปิด COD (ขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์) ได้ในเดือนเมษายน 2563 และเฟส 2 เปิด COD ได้ในเดือนมกราคม 2564
เฟ้นพันธมิตรจีน-เกาหลี
นางปรียนาถกล่าวต่อว่า แผนลงทุนบริษัท บี.กริม เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบไฮบริด ระหว่างการใช้แก๊สคอมบายไซเคิลกับระบบโซลาร์ ซึ่งจะมีทั้งโซลาร์ฟาร์มและรูฟท็อป กำลังการผลิต 230 เมกะวัตต์ พร้อมกับการพัฒนาระบบกักเก็บไฟฟ้า (energy storage) กำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง รวมเงินลงทุนทั้งสองเฟส 5,934 ล้านบาท
ขณะนี้มีเอกชนหลายรายให้ความสนใจร่วมลงทุน โดยบริษัทอยู่ระหว่างหารือเชิงลึกกับพันธมิตรจากต่างประเทศ 3-4 ราย
“เท่าที่ทราบ มีคนอยากร่วมทุนเยอะ โครงการนี้มี 2 เฟส เรากำลังทำงานร่วมกับนักลงทุนเกาหลีและจีน แต่ตัวคอมบายฯคงจะใช้ซีเมนส์เพราะเราซื้อเยอะจึงได้ราคาไม่แพง คุณภาพยอดเยี่ยมท็อปสุดของโลก ส่วนโซลาร์ถึงอย่างไรก็ไม่พ้นร่วมกับจีน ต้องยอมรับว่าการลงทุนประเทศไหนตอนนี้ก็สู้จีนไม่ได้ แม้กระทั่งยุโรปก็ถูกจีนซื้อไป เอ็นเนอร์จี้สตอเรจก็คงเป็นเกาหลี เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้”
เบื้องต้นนักลงทุนจีนที่หารือร่วมกับ บี.กริม คือ บริษัท พาวเวอร์ ไชน่า และบริษัท เอ็นเยอร์นี่ ไชน่า รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 1 ใน 5 ของจีน ทั้งสองรายเป็นพันธมิตรธุรกิจร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามอยู่แล้ว โดยโรงไฟฟ้าในเวียดนามกำลังจะเปิด COD) ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้
สร้าง 2 เฟส 6 พันล้าน
ซีอีโอ บี.กริมอธิบายด้วยว่า พันธมิตรธุรกิจมีหลายราย โดยกลุ่มพาวเวอร์ เอ็นเนอร์ยี่ ร่วมทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 420 เมกะวัตต์, บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ ไชน่า ร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ ขณะที่ในกลุ่มพันธมิตรเกาหลีที่จะร่วมพัฒนา energy storage ทาง บี.กริม มีการเจรจาหลายราย ล่าสุดได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทแอลจี หลังจากนี้เป็นการลงรายละเอียดว่าจะดำเนินการในด้านใดบ้าง
สำหรับการก่อสร้างทั้ง 2 เฟส มีกำลังการผลิตติดตั้ง 230 MW ขนาดของระบบกักเก็บพลังงาน กำลังผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง แบ่งเป็นแผนเฟสแรก ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,714 ล้านบาท 2.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 363 ล้านบาท
3.ระบบกักเก็บพลังงานจากการผลิตไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและพลังงานแสงอาทิตย์ 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง เงินลงทุน 480 ล้านบาท รวมกำลังผลิตติดตั้งเฟสแรก 95 เมกะวัตต์ และขนาดระบบกักเก็บพลังงาน 50 เมกะวัตต์ชั่วโมง ลงทุนรวม 3,557 ล้านบาท
แผนก่อสร้างเฟส 2 แบ่งเป็น 1.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม กำลังผลิตติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ ลงทุน 1,288 ล้านบาท 2.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และ/หรือติดตั้งบนหลังคา และ/หรือลอยน้ำ กำลังผลิตติดตั้ง 55 เมกะวัตต์ ลงทุน 1,089 ล้านบาท รวมกำลังผลิตติดตั้งเฟสสอง 135 เมกะวัตต์ ลงทุนรวม 2,377 ล้านบาท
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-328727
จำนวนผู้อ่าน: 2080
21 พฤษภาคม 2019