นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเชิญตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ชมรมธนาคารจังหวัดนครราชสีมา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา ท่าอากาศยานจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน บริษัทนำเที่ยวในพื้นที่นครชัยบุรินทร์หลายราย และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษามาร่วมประชุมเพื่อหารือทิศทางความเป็นไปได้ในการลงทุนเปิดสายการบินในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ นายเสนาะ สนธิพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แฮปปี้แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด จากการหารือที่ประชุมได้มีมติร่วมกันว่า ทุกฝ่ายมีความต้องการให้มีสายการบินมาเปิดบริการ และพร้อมที่จะร่วมกันพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
ทั้งนี้ ทางบริษัทแฮปปี้แอร์ฯได้มีการเสนอแนวคิดให้ร่วมกันลงทุนจัดตั้งบริษัทสายการบินของจังหวัดนครราชสีมาขึ้นมาเอง ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นประมาณ 200 ล้านบาท คิดเป็น 2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท โดยแบ่งการถือหุ้นออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ผู้ก่อตั้งบริษัท แฮปปี้แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด ถือหุ้น 20% 2.สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ซึ่งจะนำเครื่องบินมาเปิดให้บริการ ถือหุ้น 40% และ 3.ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาถือหุ้นร่วมกัน 40% โดยทุกคนสามารถซื้อหุ้นลงทุนได้ในราคาหุ้นละ 100 บาท
“จากการหารือในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จังหวัดนครราชสีมาจะมีสายการบินมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทุกฝ่ายจะร่วมมือผลักดันและช่วยเหลือให้สายการบินสามารถอยู่รอดได้ แม้ที่ผ่านมาจะยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งจะต้องมาพูดคุยและแก้ไขร่วมกัน ให้มีสายการบินเปิดให้บริการ เพื่อให้เศรษฐกิจของโคราชมีความเติบโต อนาคตจะเป็นฮับทางการบินของภูมิภาคต่อไป”
ชัชวาล วงศ์จร
นายชัชวาลกล่าวต่อไปว่า กรณีที่สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทสายการบินของจังหวัดนครราชสีมาด้วยนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากทางบริษัท แฮปปี้แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด ได้เคยเข้าไปเจรจาเสนอแนวคิดไว้ และทางการสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์มีความสนใจที่จะเข้ามาทำการบินในจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้นในเร็ว ๆ นี้ จะร่วมกันลงนามทำหนังสือเพื่อแสดงเจตนารมณ์ไปยังสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ โดยการประสานงานของบริษัทแฮปปี้แอร์ฯ เพื่อเสนอให้สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์นำเครื่องบินมาเปิดทำการบินในจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ ทางหอการค้าฯจะนำเรื่องเข้าเสนอต่อนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อหารือแนวทางการผลักดันการเปิดสายการบินในจังหวัดนครราชสีมาต่อไปในเร็ว ๆ นี้ ส่วนเรื่องรูปแบบการลงทุน ชื่อสายการบิน เส้นทางการบิน ราคาที่นั่งจะต้องทำการศึกษา และพิจารณารายละเอียดต่อไป โดยคาดว่าจะมีการประชุมหารือเรื่องนี้ร่วมกันอีกครั้งภายในเดือนนี้
แหล่งข่าวจากจังหวัดนครราชสีมาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาในอดีตมีสายการบินหลายแห่งเคยมาเปิดให้บริการที่สนามบินจังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น บริษัทแฮปปี้แอร์ฯจึงได้มาเสนอแนวคิดที่จะให้ทางจังหวัดทำการจัดตั้งบริษัทสายการบินของจังหวัดขึ้นมาเอง เพื่อจะได้ช่วยกันผลักดันในการใช้บริการ และหาลูกค้ามาใช้บริการ เพื่อให้มีจุดคุ้มทุนในการเปิดให้บริการ พร้อมกันนี้ ทางบริษัทแฮปปี้แอร์ฯได้จัดทำแผนธุรกิจมาเบื้องต้น โดยเสนอว่าได้ไปเจรจากับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศมาเลเซียไว้แล้ว โดยจะให้นำเครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737-800 จำนวน 3 ลำ ทยอยนำเข้ามาให้บริการในช่วง 1-2 ปีแรก
ส่วนการจำหน่ายบัตรโดยสารนั้นจะเน้นในรูปแบบ block seat หรือเหมาลำ โดยให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร และบริษัทนำเที่ยว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด และจังหวัดข้างเคียงเป็นผู้รับช่วงไปดำเนินการ ใช้ระบบจำหน่ายแบบออนไลน์ สามารถจองตั๋วพร้อมชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า แผนของบริษัทแฮปปี้แอร์ฯได้เสนอเส้นทางการบินที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการเช่าเหมาลำทั้งเส้นทางระหว่างจังหวัดไปยังเมืองหลัก และเมืองรอง เช่น 1.โคราช-เชียงใหม่-โคราช 2.โคราช-กระบี่-โคราช 3.โคราช-สุราษฎร์ธานี-โคราช 4.โคราช-อู่ตะเภา-โคราช 5.โคราช-น่าน-โคราช 6.โคราช-ดานัง-โคราช เป็นต้น ในราคา 1,600-2,600 บาทต่อเที่ยว รวมถึงเสนอเส้นทางบินเชื่อมไปยังสนามบินนานาชาติ ระหว่างสนามบินนครราชสีมาไปยังเมืองสำคัญของประเทศต่าง ๆ เช่น เวียงจันทน์, เสียมราฐ, กัวลาลัมเปอร์, ไทเป, ฮานอย, มาเก๊า, มะนิลา, ฟูกูโอกะ, หลวงพระบาง, หนานหนิง เป็นต้น ในราคา 2,000-3,000 บาทต่อเที่ยว ทั้งนี้ หากแผนที่นำเสนอเป็นไปตามที่วางแผนไว้ คาดว่าจะสามารถเริ่มทำการบินได้ภายในช่วงปลายปี 2563
อนึ่ง บริษัท แฮปปี้แอร์ ทราเวิลเลอร์ส จำกัด ผู้ประกอบการสัญชาติไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เริ่มทำการบินในเส้นทางภูเก็ต-หาดใหญ่ และภูเก็ต-ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ทำการบินแบบไม่ประจำ ด้วยอากาศยานของบริษัท SAAB รุ่น 340A จำนวน 1 ลำ ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ได้เพิ่มทุนเป็น 200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการขอใบอนุญาตเดินอากาศแบบประจำเพิ่มอากาศยานอีก 2 ลำ โดยย้ายสำนักงานใหญ่มาที่ กทม. โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานปฏิบัติการ และเพิ่มเส้นทางบินในเดือนสิงหาคม 2553 บินประจำจากสุวรรณภูมิ-น่าน เลย แม่สอด ระนอง ภูเก็ต หาดใหญ่ นครราชสีมา และเชียงใหม่ และแบบไม่ประจำเป็นครั้งคราวในเส้นทางอู่ตะเภา หัวหิน เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ย่างกุ้ง และพนมเปญ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-330280
จำนวนผู้อ่าน: 2311
25 พฤษภาคม 2019