เมืองนวัตกรรม EECi ปตท.ทุ่ม 5,900 ล้าน สร้างคนรับ EEC

บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ บริเวณวังจันทร์ จังหวัดระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ถูกวางให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการเป็น ศูนย์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำ รวมถึงให้บริการด้านอื่น ๆ ที่เรียกว่าEECi (Eastern Economy Corridor of Innovation) หรืออาจจะเรียกว่า “เมืองนวัตกรรมใหม่” เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economy Corridor) ในพื้นที่เป้าหมายใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา

“ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) ปตท. กล่าวว่า ปตท.ได้วาง “key success” ของพื้นที่ EECi ไว้ 5 ประเด็น ประกอบด้วย

1) พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart SMEs/VCs) หรือการพัฒนาพื้นที่ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่พักอาศัย คอนวีเนี่ยนสโตร์ โรงแรม และคอมมิวนิตี้มอลล์ รองรับการขยายตัวในอนาคต

2) การพัฒนาโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (school/university) ที่ ปตท.ได้มุ่งไปที่การเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะต้องปลูกฝังในหลักสูตรการเรียน ซึ่งตามแผนที่วางไว้ในพื้นที่จะประกอบไปด้วย โรงเรียนระดับชั้นอนุบาล มัธยม และมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นของไทยและเปิดทางให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่วังจันทร์ได้

ในส่วนการลงทุนเฉพาะของ ปตท. ทั้งด้านการศึกษาและอื่น ๆ ในพื้นที่วังจันทร์ ขณะนี้ได้ใส่เม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า (2562-2566) จะใช้เงินลงทุนอีก 2,900 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปในเรื่องของการศึกษาผ่าน โรงเรียนกำเนิดวิทย์ หรือ KVIS กับสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC นักศึกษาระดับปริญญาโทที่หลักสูตรการเรียนมุ่งเน้นไปที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใน 4 สาขา เช่น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในเครืออย่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่มีวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี หรือ IRPCT จะถูกใช้เป็นฐานในการพัฒนาคนในระดับ ปวช.-ปวส. ที่มีจุดเด่นตรงที่นักเรียนจะได้ทดลองสนามจริง คือ โรงงานในเครือของ IRPC เพื่อปลูกฝังและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนในพื้นที่ที่ต้องการให้มีสถาบันการศึกษาที่ผลิตช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

3) สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนา (research institutes) ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างเช่น ที่ ปตท.กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการก็คือ เรื่องของแบตเตอรี่ในการจัดเก็บพลังงาน

4) การดึงบริษัทใหญ่ ๆ ในระดับโลกเข้ามาร่วมลงทุนในพื้นที่ EECi (large firm & MNCs) โดยล่าสุดมี บริษัทหัวเว่ย, บางจาก, มิตรผล เป็นต้น และ 5) การเป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการ (startup, SMEs, Sls Angels, VCs & More) หรือการให้กลุ่ม startup ได้ใช้พื้นที่ในการนำเสนอไอเดียกับผู้ประกอบการที่สนใจร่วมลงทุน หรือการ pitching เพื่อนำไปสู่การต่อยอดเป็นธุรกิจต่อไป

ซึ่งในประเด็นนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในงานมอบนโยบายให้กับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะเรียกผู้ประกอบการเข้ามาหารือถึงคุณสมบัติของบัณฑิตที่ต้องการเป็นอย่างไร เพื่อให้แต่ละสถาบันการศึกษาได้นำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการหาเครื่องมือในการจูงใจให้สถาบันการศึกษาที่สามารถพัฒนาบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการในพื้นที่ EEC อาจจะส่งเสริมในแง่ของงบประมาณให้เพิ่มเติม หรือสร้างแรงจูงใจโดยให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ

ส่วนในแง่ของการศึกษานั้น “ชาญศิลป์” ฉายภาพให้เห็นว่า นอกเหนือจาก ปตท.จะต้องพัฒนาและหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจก็ตาม แต่ในแง่ของการ “พัฒนาคน” ปตท.ได้ให้น้ำหนักเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ยกตัวอย่าง สถาบันวิทยสิริเมธี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการร่วมมือของบริษัทในเครือทั้งหมด เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ “ลงขัน” ใส่เงินเพื่อพัฒนาพื้นที่ EECi รวม 2,500 ล้านบาท ในทุกปีในช่วงเริ่มต้นพัฒนาสถาบัน ต่อจากนั้นสถาบันจะต้องเริ่มหา “รายได้” เข้ามาด้วยตัวเองจาก “งานวิจัย” ที่ตั้งเป้าไว้

“บริษัทในเครือ ปตท.ได้พัฒนาคนออกไปสู่สังคม ประมาณ 7,000-8,000 คนแล้ว ภายใต้หลักสูตรที่ใช้สอนก็ตั้งแต่ระบบไฟฟ้า เมคาทรอนิกส์ พลังงาน” นายชาญศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ การสร้างคนเพื่อนำไปสู่การ “สร้างชาติ” นั้น ได้ถูกจัดให้เป็น mindset ที่ ปตท.ต้องการเน้นย้ำ นักศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธีที่เรียนจนจบหลักสูตรออกไปแล้วถึง 2 รุ่น มีจำนวนหนึ่งได้ออกไปทำงานกับบริษัทระดับโลก อย่างเช่น บริษัทผลิตเหล็กชั้นนำของโลกอย่างบริษัทพอสโก้ หรือบริษัทเอ็กซอนโมบิล ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำของโลก

สิ่งที่จะเป็นผลพลอยได้กลับมา คือ การมี connection กับบริษัทระดับ global ต่อไป

“เมื่อรวมเด็กที่จบจาก KVIS รวม 70 คน และ VISTEC อีก 13 คน และคาดว่าในช่วงปลายปีนี้จะมีผู้เรียนจบอีก 9 คน ความสำเร็จของบัณฑิตแต่ละรุ่นที่อาจจะได้ทำงานกับบริษัทระดับโลกในด้านต่าง ๆ ถือว่าประเทศจะได้ประโยชน์ในแง่ของ connection รวมถึงได้สร้างเครือข่ายต่าง ๆ หรือ networking อีกด้วย อย่างบริษัทพอสโก้ ในอนาคตอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวัสดุศาสตร์ระหว่างกันได้ หรืออย่างบริษัทแสนสิริ ที่แม้จะเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่วันนี้แสนสิริได้เป็นองค์กรมีความทันสมัยมากด้วยการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มาใช้กับโครงการพัฒนาบ้านและอื่น ๆ”

ในพื้นที่ EECi ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อำเภอวังจันทร์”ที่ ปตท.ได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดิน 154 ไร่ แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดยล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างและได้ประสานงานโครงการรวมถึงดำเนินการปลูกพืชในทุกโซน และทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี สนับสนุนงานด้านวิจัยและนวัตกรรมอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-330466


จำนวนผู้อ่าน: 2286

25 พฤษภาคม 2019