RTC ผนึก BTS ผุดรถรางเบาเชียงใหม่ ลุยต่อซิตี้บัสขยายเส้นทางหลัง มช.-พืชสวนโลก

เดินหน้า - บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ยังคงเดินหน้าแผนพัฒนาขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (tram) มูลค่า 6,000 ล้านบาทในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยล่าสุดได้เจรจาเบื้องต้นกับกลุ่ม BTS ซึ่งแสดงความสนใจจะเป็นพันธมิตรในการร่วมลงทุนครั้งนี้

RTC รุกเจรจากลุ่ม BTS พัฒนาขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ วาดแผนลงทุนระบบรถไฟฟ้ารางเบา 3 เส้นทางหลัก มูลค่า 6 พันล้านบาท “สนามบิน-นิมมานฯ” “นิมมานฯ-คูเมือง” “หน้า มช.-เซ็นทรัลเฟสฯ” ล่าสุดเริ่มลุยเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ทางเทคนิค ข้อกฎหมาย-การวางแนวเขตทาง ลุยต่อ “RTC City Bus” แม้ยังขาดทุน เร่งขยายเส้นทางสาย R3 เข้าหลัง มช.-พืชสวนโลก คาดกระตุ้นการเดินทางได้เพิ่มขึ้น เผยเตรียมปรับราคาค่าโดยสารเป็น 30 บาท

นายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนงานของ RTC ในปีนี้ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นว่าระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพมีความสำคัญต่อเมือง และเป็นกลไกในการเปลี่ยนเมือง โดยมีแผนพัฒนาขนส่งมวลชนระบบราง คือ รถไฟฟ้ารางเบา (tram) ขณะนี้ได้เจรจาเบื้องต้นกับกลุ่ม BTS ซึ่งแสดงความสนใจที่จะเป็นพันธมิตรในการร่วมลงทุนครั้งนี้กับ RTC

ล่าสุดได้เริ่มขับเคลื่อนการทำงานในเชิงพื้นที่แล้ว โดยเริ่มเก็บข้อมูลเชิงเทคนิค การศึกษาข้อกฎหมาย และการวางแนวเขตทาง คาดว่าจะใช้เวลาการทำงานเชิงพื้นที่ราว 1 ปี ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการออกแบบรายละเอียด ใช้เวลาอีกราว 1 ปี และหากผ่านในทุกขั้นตอนแล้ว จะเริ่มสู่ขั้นตอนการก่อสร้างโครงการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 1 ปี โดยตามแผนงานที่วางไว้สำหรับการพัฒนาระบบ tram ในเมืองเชียงใหม่ จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ เบื้องต้นได้วางแนวเส้นทาง tram ไว้ 3 route คือ 1.สนามบิน-นิมมานฯ 2.นิมมานฯ-คูเมือง 3.หน้า มช.-ซูเปอร์ไฮเวย์-เซ็นทรัลเฟสติวัล ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางถือว่ามีศักยภาพสูง (high potential) มีปริมาณการเดินทางที่หนาแน่น ระยะทางของแต่ละเส้นทางตั้งแต่ 6-8 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 6,000 ล้านบาท โดยวางตำแหน่งจุดศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ไว้ 3 จุด คือ 1.เซ็นทรัลแอร์พอร์ต 2.วัน นิมมาน (One Nimman) 3.เซ็นทรัลเฟสติวัล ซึ่งจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของการคมนาคมของเมืองเชียงใหม่ในอนาคต ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางในหลากหลายทางเลือก

นายฐาปนากล่าวว่า ในส่วนของการดำเนินงาน RTC City Bus ที่ให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตตัวเมืองเชียงใหม่มาครบ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ยืนยัน 100% ว่าจะไม่หยุดให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางเดินรถจำนวน 3 เส้นทาง คือ สาย R1 (สวนสัตว์-มช.-ห้างเมญ่า-คูเมือง-ขนส่งช้างเผือก-ร.ร.ปรินส์ฯ-เซ็นทรัลเฟสติวัล) มีอัตราผู้โดยสารใช้บริการราว 800 คนต่อวัน สาย R2 (ไนท์บาซาร์-หนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ตมัธยม-ห้างพรอมเมนาดา-ตลาดหนองหอย-ร.ร.มงฟอร์ตประถม-ร.ร.พระหฤทัย-ร.ร.เรยีนาฯ) มีอัตราผู้โดยสารราว 80 คนต่อวัน และสาย R3 (สนามบิน-ร.ร.วัฒโนฯ-สวนดอก-นิมมานฯ-คูเมือง-ตลาดวโรรส-ไนท์บาซาร์) มีอัตราผู้โดยสารราว 700 คนต่อวัน

โดย RTC เตรียมแผนขยายเส้นทางเพิ่ม เพื่อเข้าถึงการใช้บริการของผู้โดยสารให้ครอบคลุมมากที่สุด โดยมีแผนขยายเส้นทางสาย R3 ไปบริเวณด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะนักศึกษา ขณะเดียวกันยังได้ขยายเส้นทางสาย R3 (เที่ยวพิเศษ) จากสนามบิน-พืชสวนโลก ในช่วงเช้า 2 เที่ยว และเย็น 2 เที่ยว ซึ่งเปิดให้บริการมาได้ราว 2 สัปดาห์แล้ว

ขณะที่สาย R1 จะขยายเส้นทางเพิ่ม ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่-เซ็นทรัลเฟสติวัล ถือเป็นอีกย่านการเดินทางที่สำคัญ ส่วนสาย R2 ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการค่อนข้างน้อยมาก ขณะนี้กำลังวางแผนปรับปรุงขอขยายเส้นทางใหม่เพิ่มไปยังย่านชุมชนหนาแน่น นอกจากนี้อยู่ระหว่างการจัดทำป้ายจุดจอด (อัจฉริยะ) 4 จุดจอดใหญ่ คือ จุดจอดหน้าห้างเมญ่า จุดจอดหน้าห้างวัน นิมมาน จุดจอดหน้าห้างเซ็นทรัลแอร์พอร์ต และจุดจอดหน้าห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล

นายฐาปนากล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังทำหนังสือแจ้งไปยังขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอปรับขึ้นราคาค่าโดยสารจาก 20 บาท เป็น 30 บาท โดยตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการ 2,400 คนต่อวัน ก็จะสามารถอยู่ได้ ในอัตราการเก็บค่าโดยสาร 30 บาท ทั้งนี้ จะมีบัตรโดยสารราคาเดิม (20 บาท) สำหรับคนเชียงใหม่โดยเฉพาะ ส่วนราคา 30 บาทจะเก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ ในด้านผลกำไรถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของเมืองให้มีคุณภาพจะทำให้เมืองพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของ RTC

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-333984


จำนวนผู้อ่าน: 2139

05 มิถุนายน 2019