‘อิเสะ’ยักษ์ไข่ญี่ปุ่นบุกไทย ตั้งฟาร์มไก่ท้าชนเจ้าตลาด

ตลาดไข่ไทยสะเทือน “ISE Foods” ยักษ์ผู้ผลิตไข่ไก่ครบวงจรสัญชาติญี่ปุ่น รุกปักธงลงทุน Egg Park ฟาร์มไก่ไข่ 1 ล้านตัวที่แปดริ้ว ดอดเจรจาบีโอไอ ด้านผู้เลี้ยง-ผู้ผลิตไก่ไข่จับมือกรมปศุสัตว์ออกโรงต้าน หวั่นไข่ล้นตลาด สะเทือนบรรดายักษ์ใหญ่ปศุสัตว์มีคู่แข่งฝีมือทัดเทียมเข้ามาตีท้ายครัวถึงในบ้านตัวเอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าขณะนี้บริษัท ISE Foods Inc. หรือ “อิเสะ”ยักษ์ใหญ่ปศุสัตว์และผู้ผลิตไข่ไก่ครบวงจรเบอร์ 1 จากประเทศญี่ปุ่น จะเข้ามาลงทุนพัฒนาฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาด 1 ล้านตัว ที่ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา โดยบริษัทอยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอรับการส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) โดยการเข้ามาลงทุนของอิเสะในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลและตื่นตระหนกให้กับบรรดายักษ์ใหญ่ทางด้านปศุสัตว์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดไข่ไก่อันดับหนึ่งของประเทศ จากการที่ไม่เคยมีคู่แข่งที่มีศักยภาพทัดเทียมกับตัวเองเข้ามาปรากฏตัวในประเทศ

ทั้งนี้ บริษัท อิเสะ ฟู้ดส์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ISE Foods Inc.) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว กับเมืองโคโนสุ ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 1912 เงินทุนจดทะเบียน 20 ล้านเยน (ประมาณ 5.77 ล้านบาท) ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวม 732 คน มีสำนักงานขายในญี่ปุ่น 7 แห่ง และมีโรงงานในญี่ปุ่นทั้งสิ้น 10 แห่ง โดยในปีงบประมาณ 2018 มียอดขายรวม 47,100 ล้านเยน (ประมาณ 13,600 ล้านบาท) นอกจากนี้ บริษัทยังมีในเครือหลายแห่งที่ถูกกำกับและบริหารภายใต้ บริษัท อิเสะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ISE Corporation) มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองโทยามะ ประกอบด้วยบริษัทในเครือด้านการผลิต 8 แห่ง และด้านการแปรรูปอีก 3 แห่งทั่วญี่ปุ่น สำหรับบริษัทในเครือต่างประเทศมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา 1 แห่ง ในจีน 3 แห่ง (ปักกิ่ง-ชิงเต่า-เหอหยวน) และยังมี บริษัท อิเสะฟู้ดส์ สิงคโปร์ จำกัด (ISE FOODS SINGAPORE PTE. LTD.) กับบริษัท อิเสะ เอเชีย จำกัด (ISE ASIA, INC.) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียว ดูแลฐานการผลิตในกรุงเทพฯ และอินโดนีเซีย

กลัวไข่ล้นตลาด

ด้าน นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้สอบถามมาที่สมาคมกรณีบริษัทขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น (อิเสะ) จะมาลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ที่ฉะเชิงเทรา 1-2 ล้านตัว ปรากฏเรื่องนี้สมาคมมี “ความป็นห่วงพอสมควร” เนื่องจากกลัวว่า ไข่ไก่ของบริษัทจะเล็ดลอดออกมาขายแข่งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในไทย และมีผลทำให้ราคาไข่ในประเทศตกต่ำลงได้ เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ไข่ไก่ของไทยราคา “ต่ำกว่า”ต้นทุนการผลิตจากผลผลิตไข่ล้นเกินความต้องการบริโภค

มีรายงานข่าวจากวงการเลี้ยงไก่ไข่เข้ามาว่า ประเด็นที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เลี้ยงไก่ไข่จากการเข้ามาของอิเสะก็คือ ซัพพลายไข่ไก่ที่จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 900,000-1 ล้านฟอง/วัน จะมีผลทำให้ไข่ไก่กลับมา “ล้นตลาด” เหมือนเมื่อปี 2559 ซึ่งช่วงนั้นมีไข่ไก่ล้นตลาดถึง 8 ล้านฟอง/วัน จากปริมาณการผลิตไข่ภาพรวมมีมากถึง 48 ล้านฟอง/วันราคาขายไข่ไก่ลดลงเหลือฟองละ 2.30 บาทเกษตรกรประสบภาวะขาดทุน กระทั่ง”เอ้กบอร์ด” ต้องออกมา “จำกัด” ปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ (PS) และปู่ย่าพันธุ์ (GP) ไก่ไข่ และลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงทั่วประเทศให้อยู่ที่ 50 ล้านตัว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย ส่งผลให้ราคาขายไข่ไก่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท

CP เข็นไข่เคจฟรีสู้

ด้านนายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)กล่าวว่า ธุรกิจไก่ไข่ในแต่ละปีนั้น “มีได้และมีเสีย” หลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรขาดทุนค่อนข้างมากจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลายเป็นหลัก แต่ดีที่ในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานร่วมกับสมาคมได้คอนโทรลซัพพลายลดพ่อแม่พันธุ์ (PS) ลดการส่งออกและเก็บไข่เข้าห้องเย็น มีผลทำให้ราคาไข่กลับมาดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรที่เคยขาดทุนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาดีขึ้น

“หากบริษัทอิเสะเข้ามาก็จะมาเพิ่มจำนวนซัพพลายไข่ไก่เข้ามาในตลาดอีกซึ่งน่าห่วงว่าเกษตรกรรายเล็กรายย่อยที่เลี้ยงไก่ไข่ 500-1,000 ตัว จะไม่สามารถแข่งขันได้ ส่วนรายใหญ่อย่าง CP หรือเบทาโกร ไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว ผมคิดว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังในการตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าเกษตรกรคงไม่พอใจ ถ้าจะให้อิเสะเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม CPF กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงระดับพรีเมี่ยมภายใต้แบรนด์ “U-Farm” มีการผลิตไก่เบญจาออกสู่ตลาดแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนา “ไข่เคจฟรี” (Cage Free) ซึ่งให้ไก่กินอาหารที่ไม่มียาปฏิชีวนะ ช่วยให้ไข่ไม่มีกลิ่นคาวสามารถตอกไข่ดิบลงบนข้าวได้ เช่นเดียวกับไข่ของอิเสะจากญี่ปุ่น และเริ่มทดลองทำการตลาดขนาดแพ็ก 4 ฟอง ขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นบ้างแล้ว

กรมปศุสัตว์ออกโรงร่วมต้าน

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมได้แจ้งให้ทางบริษัทอิเสะทราบแล้วว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่บริษัทจะเข้ามาตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยจากเหตุผลที่ว่า 1) ผู้เลี้ยงไก่ไข่ของไทยเป็นผู้เลี้ยงรายย่อยอาจมีผลกระทบต่อเกษตรกร 2) แผนลงทุนของบริษัทอิเสะไม่สอดคล้องกับมาตรการที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ต้องการควบคุมกำหนดโควตานำเข้าปู่ย่าพันธุ์ (GP)-พ่อแม่พันธุ์ (PS) และ 3) อุตสาหกรรมไก่ไข่ไทยมีศักยภาพสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศมากอยู่แล้ว ซึ่งตลาดในประเทศก็มีผลผลิตไข่ไก่เกินความต้องการ

“อิเสะได้ทำแผนการผลิตและส่งออกไก่ไข่ครบวงจร โดยใช้ชื่อว่า “Egg Park” เสนอมายังรัฐบาล และให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้พิจารณาก่อน โดยต้องไปผ่านมติเอ้กบอร์ด ซึ่งกรมพิจารณาแล้วว่า แผนของอิเสะไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไก่ไข่ของไทย กรมปศุสัตว์จึงไม่เห็นด้วย และที่สำคัญคือ จะกระทบเกษตรกรอย่างมาก” นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าว

ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า ISE foods จะเข้ามาหารือกับ BOI เพื่อขอทราบสิทธิประโยชน์จากการลงทุนฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่จนถึงขณะนี้ทางบริษัท ISE foods ยังไม่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน “ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ไม่ใช่อุตสาหกรรม S-curve และไม่ใช่พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริม แต่ ISE foods สามารถเข้ามาลงทุนตั้งฟาร์มเองก็ได้ เพียงแต่ไม่ได้รับการส่งเสริม-สิทธิประโยชน์จาก BOI เท่านั้น”

เกษตรกรเดือดร้อน

“ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่หลายรายกรณี “อิเสะ” จะเข้ามาลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ว่า ผู้รับผลกระทบมากที่สุดไม่ใช่เกษตรกร แต่เป็นบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านปศุสัตว์ จากเหตุผลที่ว่า บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดไก่ไข่ในประเทศ ย่อม “ไม่ยอม” ให้มีคู่แข่งที่มีศักยภาพทัดเทียม หรือเก่งกว่าเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตไก่ไข่เบอร์ 1 ที่มีแชร์ห่างจากเบอร์ 2 หลายเท่าตัว

“การเข้ามาของอิเสะเชื่อว่าไม่ได้มาคนเดียว แต่อิเสะจะต้องหาพันธมิตรภายในประเทศ อาจจะเป็นการร่วมลงทุน กรณีนี้จะทำให้การครองส่วนแบ่งตลาดไก่ไข่และไข่ในประเทศเปลี่ยนแปลงไป เบอร์ 2-3-4 อาจขยับขึ้นมาแข่งกับเบอร์ 1 ได้ ทั้งในแง่ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากไข่ โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากอิเสะ

ส่วนปริมาณไข่ไก่ที่ล้นเกินนั้น ความจริงมาจากการไม่มีการควบคุมปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ (PS) ไปจนถึงปู่ย่าพันธุ์ (GP) เนื่องจากเป็นการเปิดให้นำเข้าโดยเสรี ดังนั้น การปรากฏตัวของอิเสะจึงได้รับการต่อต้านอย่างสูง

ส่วนที่ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จะเดือดร้อนนั้น ปัจจุบันแทบไม่มีผู้เลี้ยงอิสระอยู่แล้ว เพราะระบบการเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบันเป็นแบบ contact farming ผู้เลี้ยงไก่ไข่เหมือนหนึ่งลูกจ้างเลี้ยงไก่ของบริษัทนั่นเอง” แหล่งข่าวกล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-339145


จำนวนผู้อ่าน: 2120

17 มิถุนายน 2019