สมาคมธนาคารไทยประกาศมาตรฐานชำระเงินผ่าน QR Code พร้อมเริ่มใช้งานจริงไตรมาสที่ 4

ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย ประกาศมาตรฐานการชำระเงินผ่าน QR Code ที่เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิด สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเจาะกลุ่มตลาดกลางและตลาดล่างให้ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น เพิ่มความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรม และลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการจัดการธนบัตร

ทั่วโลกเปลี่ยนพฤติกรรมจากเงินสดไปเป็น QR Code มากขึ้น

พฤติกรรมการชำระเงินของคนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากการใช้เงินสดเป็นแบบ “ไม่ใช้เงินสด” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระเงินผ่าน QR Code เนื่องจากง่ายและสะดวกสบายต่อทั้งผู้ชำระเงินและผู้รับเงิน ที่สำคัญคือร้านค้าทั่วไปสามารถใช้งานได้โดยลงทุนน้อยมากหรือแทบไม่ต้องลงทุนเลย ในขณะที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูงกว่าการชำระเงินผ่านเงินสด

ผลสำรวจการเลือกบริการชำระเงินในประเทศจีนจาก Survey of Consumers โดย FT Confidential Research พบว่าประชาชนจีนเลือกใช้ Alipay ซึ่งเป็นการชำระเงินผ่าน QR Code เป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเงินสด และบัตรเดรดิต ที่น่าสนใจคือบางจังหวัดมีอัตราผู้ที่ใช้ Alipay มากกว่าเมืองหลวงหรือจังหวัดใหญ่ๆ ในประเทศเสียอีก เนื่องจากเป็นการชำระเงินที่บุคคลทั่วไปและผู้สูงอายุที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ง่าย

“การใช้เงินสดเป็นภาระหนักสำหรับธนาคารและรัฐ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการขนส่ง การพิมพ์ธนบัตร การคัดแยกธนบัตรเพื่อทำลาย การนับเงิน ซึ่งถ้าเราสามารถเปลี่ยนมาใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้น 10% จะสามารถช่วยประเทศชาติประหยัดลงได้ถึงหลายหมื่นล้านบาท” — คุณยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทยระบุถึงข้อเสียของการใช้เงินสด

QR Code มาตรฐานเดียวกัน ใช้ร่วมกันได้ทุกธนาคารและบัตรเครดิต

คุณบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีการเงิน จากธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงว่า การชำระเงินผ่าน QR Code ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการชำระเงินของร้านค้าทั้งแบบ Physical และแบบ Online ในอนาคาต เนื่องจากช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการของร้านค้า ลดการใช้เงินสด และไม่มีภาระในการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรใดๆ

อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะใช้ QR Code ที่แตกต่างกันย่อมก่อให้เกิดความยุ่งยากและสับสน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย จึงได้ร่วมมือกับธนาคารและผู้ให้บริการ e-Wallet และบัตรเดบิต/เครดิต เพื่อกำหนด QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยนำมาตรฐาน EMVCo ที่ผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั่วโลกต่างยอมรับมาปรับใช้ เพื่อให้รองรับ Sources of Funds ได้หลากหลาย และสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

“QR Code Payment จะเป็นเครื่องมือชำระเงินที่สำคัญในการเจาะกลุ่มตลาดกลางและตลาดล่าง เนื่องจากมีต้นทุนต่ำ สามารถใช้ร่วมกับพร้อมเพย์ได้ทันที ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องรับบัตร (EDC) ที่มีราคาสูง ที่สำคัญคือเงินเข้าบัญชีทันที ทำให้สามารถใช้จ่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น” — คุณบัญชากล่าว

QR Code ใช้ในงานชำระเงินได้อย่างไร

QR Code คือรหัสชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนามาจาก Barcode แต่ใช้งานได้ง่ายกว่าและเก็บข้อมูลได้มากกว่า ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ใช้เก็บเว็บไวต์ของบริษัทเพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูข้อมูลต่างๆ ได้สะดวก หรือใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพา เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเอง ได้พัฒนาการชำระเงินผ่าน QR Code ให้สามารถเชื่อมต่อกับบัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชี e-Wallet และพร้อมเพย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการชำระเงินแก่ประชาชน ไม่ต้องพกบัตรติดตัว ลดการใช้เงินสด หรือขอเลขบัญชีของร้านค้าเพื่อโอนเงินอีกต่อไป

สำหรับร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์สามารถเลือกใช้ QR Code ได้ 2 แบบ คือ

  • Static QR Code: ร้านค้าสามารถพิมพ์และติด QR Code ไว้ที่แคชเชียร์หรือที่ตัวสินค้าได้ตลอดจนกว่าข้อมูลการชำระเงินจะเปลี่ยนไป โดยร้านค้าอาจเป็นผู้กำหนดราคาให้ลูกค้าชำระเงินตามที่ระบุ หรือลูกค้าเป็นผู้ใส่จำนวนเงินเองก็ได้
  • Dynamic QR Code: การทำธุรกรรมแต่ละครั้งจะใช้ QR Code ที่แตกต่างกัน เช่น การระบุราคารวมของสินค้าโดยลูกค้าไม่ต้องใส่จำนวนเงิน กรณีนี้ QR Code จะถูกสร้างขึ้นจากแอพพลิเคชันบนอุปกรณ์พกพาของร้านค้านั้นๆ

ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด

หรับประชาชนทั่วไป การชำระเงินผ่าน QR Code โดยใช้มาตรฐานเดียวกันช่วยให้สามารถซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องพกเงินสดหรือบัตรหลายใบ และไม่ต้องกลัวว่าร้านค้าจะแอบขโมยข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิต หรือข้อมูลบัญชีธนาคารของตนอีกด้วย ในขณะที่ทางร้านค้าเอง QR Code จะเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางการชำระเงิน ขยายฐานลูกค้า ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่นิยมทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญคือเงินจะเข้าบัญชีโดยตรง ไม่ตกหล่นสูญหาย ไม่ต้องกลัวถูกพนักงานขโมยและไม่ต้องกังวลเรื่องธนบัตรปลอม

ในภาพรวม การใช้ QR Code มาตรฐานเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้ QR Code ที่แตกต่างกัน และช่วยลดการใช้เงินสด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดของประเทศลดลงอีกด้วย

ดูตัวอย่างการชำระเงินผ่าน QR Code ได้จากวิดีโอด้านล่าง

“พวกเราสามัคคีกันใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้าง Ecosystem และศักยภาพการแข่งขันของระบบการเงินไทยที่ดีและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่อทุกคนในระบบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ผู้ให้บริการบัตรและ e-Wallet ร้านค้า และผู้บริโภค ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” — คุณบัญชาสรุป

กำลังทดสอบมาตรฐาน QR Code เตรียมใช้งานจริงเป็นวงกว้างในไตรมาสที่ 4

คุณบัญชาระบุว่า ตอนนี้มาตรฐาน QR Code ทำเสร็จ พร้อมใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายธนาคารในประเทศไทยกำลังทดสอบการใช้ QR Code ร่วมกันอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ว่าจะใช้แอพพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคารใด ก็สามารถอ่าน QR Code ได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงกำหนดกฎกติกา มารยาท และโปรโตคอลในการรับส่งข้อมูลร่วมกัน ซึ่งคาดว่าประมาณเดือนกันยายนจะเริ่มให้ร้านค้าต่างๆ เข้ามาร่วมทดสอบ และจะพร้อมใช้งานจริงร่วมกับพร้อมเพย์เป็นอันดับแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2017 หลังจากนั้นจะพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานร่วมกับบัญชี e-Wallet, บัตรเครดิต และบัตรเดบิต ต่อไป

“ในช่วงการทดสอบนี้ พวกเรายังให้ความรู้แก่ธนาคาร สาขา Call Center และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้พร้อมทำความเข้าใจแก่ลูกค้า และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง” — คุณบัญชากล่าวเสริม

 

ที่มา : techtalkthai.com

 

 

 

 

 

 

 


จำนวนผู้อ่าน: 2461

04 กันยายน 2017