เช้าวันนี้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 30.56 บาท/ดอลลาร์ นักวิเคราะห์ธนาคารกรุงไทยชี้ต่างชาติชะลอลงทุนบอนด์ไทย เหตุเริ่มขายทำกำไร-ปรับพอร์ตโยกลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน คาดกรอบค่าเงินบาทวันนี้ 30.60 – 30.70 บาทต่อดอลลาร์
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (4 ก.ค.) ที่ระดับ 30.65 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงวันนี้จะยังคงมีความผันผวนสูง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ (บอนด์) ไทย แม้เงินบาทจะแข็งค่าต่อ โดยเริ่มขายทำกำไรและปรับพอร์ตไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าเงินเริ่มแข็งค่าขึ้น
“เรามองว่าภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลก มีโอกาสดึงให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ง่ายขึ้น การขายทำกำไรสกุลเงินเอเชียจึงเกิดขึ้นได้ นอกเหนือจากนั้นการที่โดนัลด์ ทรัมป์ (ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) พยายามระบุว่ายุโรปและจีนกำลัง “แทรกแซงค่าเงิน” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันให้ทั้งยูโรและหยวนให้อ่อนค่ารับข่าว ซึ่งจะส่งผลกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าได้เช่นกัน” นายจิติพลกล่าว
สำหรับกรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.60 – 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายจิติพลกล่าวว่า ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.8% ทำสถิติจุดสูงสุดใหม่ที่ 2995 จุด โดยตลาดมีความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยในปลายเดือน ก.ค.นี้ ส่งผลให้แทบทุกอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น เช่นเดียวกับกับฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 และ FTSE100 ก็ปรับตัวขึ้น 0.9% และ 0.7% ตามลำดับ
โดยจุดที่น่าสนใจอยู่ที่ฝั่งตลาดตราสารหนี้ที่อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ทั่วโลกปรับตัวลงเรื่อย ๆ ล่าสุด บอนด์ยีลด์เยอรมนีอายุ 10ปีปรับตัวลง 2.0bps สู่ระดับ -0.38% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะนอกจากจะได้รับผลจากนโยบายการเงินสหรัฐฯ ก็มีเรื่องการแต่งตั้งประธาน ECB คนใหม่ และการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ตัดสินใจ “ไม่ลงโทษ” อิตาลี ในกรณีที่ขาดดุลงบประมาณเกินกว่าที่กำหนดของ EU (2.0% ของจีดีพี)
อย่างไรก็ดี ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยังคงดูไม่สดใส โดยดัชนี Caixin Services PMI ของจีน ลดลงแตะระดับ 52.0จุด พร้อมกันกับฝั่งสหรัฐฯ ที่ดัชนี ISM Services PMI ลดลงจากระดับ 56.9จุด สู่ระดับ 55.1จุด ชี้ว่าภาคการบริการสหรัฐฯไม่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ ยอดการจ้างงานเอกชนโดย ADP (Nonfarm employment change) ก็เพิ่มขึ้นเพียง 1.0แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าที่ 1.4แสนราย พร้อมกันนี้ ยอดสั่งซื้อภายในโรงงาน (Factory Order) ก็หดตัวลงกว่า 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ย้ำภาพการผลิตสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-345984
จำนวนผู้อ่าน: 2043
04 กรกฎาคม 2019