ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็วๆ นี้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมเกษตรผสมผสานผ่านการปลูกไผ่เศรษฐกิจ พืชแห่งอนาคต
โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคีภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ นาย เฟลิก มูน ประธานกรรมการ ผู้จัดการ บริษัทดีเค เอเนอร์จี จำกัด ดร.ลีชัง ซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเค เอเนอร์จี จำกัด ดร.ซอง เฮจา กรรมการผู้จัดการ บริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น นายคิม จวา ดู กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด นายวิทย์ธีรัชชัย ยินดีชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วู้ดพลัส จำกัด นายชาตรี วชิระเผด็จศึก ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ 13 ร่วมลงนาม
สืบเนื่องจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยสภาเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับ ศอ.บต. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ริเริ่มและขยายผลโครงการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ไปสู่การทำเกษตรผสมผสานในวงกว้างมากขึ้นให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในปี พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมพื้นที่ จากเดิมเป็นการปลูกยางเชิงเดี่ยวหรือพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ให้เป็นฟาร์มสวนยาง ที่นำหลักการเกษตรผสมผสาน มาปรับและพัฒนาให้เข้ากับวิถีชีวิตประชาชน รวมทั้งให้สอดคล้องกับหลักภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมของพื้นที่ไปพร้อมกัน นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุด สร้างงานสร้างอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นหลักประกันการสร้างรายได้ในระยะยาว ศอ.บต.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริมเกษตรผสมผสาน ผ่านการปลูกไผ่เศรษฐกิจ
ซึ่งถือว่าเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับเกษตรกรร่วมกับพืชเดิมที่เกษตรกรเพาะปลูก
ทั้งนี้โครงการมีการขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ สำหรับภาคเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ นำโดย บริษัท ดีเค เอเนอร์จี จำกัด บริษัท วูแอม คอร์เปอเรชั่น บริษัท จีบี เอเนอร์จี จำกัด บริษัท วู้ดพลัส จำกัด จะเป็นหน่วยรับซื้อไม้ไผ่เศรษฐกิจ ที่มีขนาดลำต้นเหมาะสมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทุกราย
“โดยกำหนดอัตราการซื้อขายที่ราคาระหว่าง 650-700 บาทต่อตัน เป็นระยะเวลา 21 ปี (พ.ศ. 2563-2583)”
นอกจากนี้ การกำหนดราคาข้างต้น จะเป็นไปในราคาเช่นใดนั้น ให้พิจารณาตามราคามาตรฐานอ้างอิงตลาดต่างประเทศและพิจารณาถึงประโยชน์และรายได้ของเกษตรกรเป็นสำคัญ จะมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตไผ่เศรษฐกิจ ต้นแบบอุตสาหกรรมป่าไม้เศรษฐกิจ และการแปรรูปแบบครบวงจร
โดยดำเนินธุรกิจในพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงของ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ว่าด้วย Clean Development Mechanism (CDM) โดยไม่ดำเนินการใดใดที่จะนำไปสู่การสร้างปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ภาคีภาคการเกษตรจะดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนและกำหนดพื้นที่นำร่อง ในเบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการที่ ต.กาบัง จ.ยะลา ในการคัดกรองเกษตรกร ที่มีความต้องการปลูกไผ่ในพื้นที่
พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ศอ.บต. จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งการปลูกไผ่เศรษฐกิจ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภายใต้พลังงานสีเขียว ทิศทางนี้จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-347497
จำนวนผู้อ่าน: 2054
09 กรกฎาคม 2019