“ประยุทธ์” ระทึก! ศาล รธน. รับสอบปมจนท.อื่นของรัฐ-มติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องยุบ’อนาคตใหม่’

แฟ้มภาพ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของส.ส.พรรคฝ่ายค้านจำนวน 110 คนที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีปัญหาขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งเนื่องจากเป็นหัวหน้า คสช.เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่อื่นรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง( 4 ) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15) หรือไม่ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้แจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ พร้อมส่งสำเนาคำร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้องเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสองบัญญัติเงื่อนไขไว้ว่า “จะต้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง “ซึ่งตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องที่จะทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด ประกอบกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้มีคำร้องขอในส่วนนี้จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนกรณีคำร้องที่กกต. ขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษา ในขณะนั้น ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นส.ว.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรมว.วิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเป็นรมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(5) หรือไม่

เนื่องจากถือครองหุ้นสัมปทานรัฐ4รัฐมนตรีถือครองหุ้นสัมปทานรัฐวันนี้ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปราย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้จึงไม่ทำการไต่สวนและนัดออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังน ในวันที่ 27 ส.ค. เวลา 14 .00น. อย่างไรก็ตามหลังจากนี้หากคู่กรณีประสงค์ยื่นคำแถลงการณ์ผิดคดีเป็นหนังสือสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง

นอกจากนี้ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 รับคำร้องที่ นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้อง 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหมผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ไว้พิจารณาวินิจฉัย

เนื่องจากเห็นว่า นายณฐพร ได้ใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสามที่นายณฐพรจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องและแจ้งนายณฐพร ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ด้านนายณฐพร โตประยูร ซึ่งยื่นคำร้องดังกล่าว ระบุว่าตนไปยื่นร้องเรื่องนี้เงียบ ๆ ประเด็นที่ร้องมีหลายประเด็นทั้งพฤติกรรมการกระทำของหัวหน้าและแกนนำพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงข้อบังคับพรรคอนาคตที่มีการเขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นร้องต่ออัยการสูงสุด และทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยเตรียมที่จะยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีเบื้องหลังหรือไปรับงานใครมา รวมทั้งตนก็ไม่ได้ทำเพราะโกรธแค้นหรือมีปัญหาอะไรกับนายธนาธร นายปิยบุตรมาก่อนเพราะไม่เคยรู้จัก เพียงตนเห็นว่าการกระทำของแกนนำและพรรคอนาคตใหม่มีลักษณะเอาระบอบประชาธิปไตยมาอ้าง แต่แท้จริงแล้วมีเจตนาที่ไม่มีดีกับสถาบันเบื้องสูง

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นที่ปรึกษาหลายองค์กรก็ลาออกจากทุกตำแหน่งมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะเลย ถ้าได้อ่านสำนวนที่ผมทำเต็ม ๆ จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องประชาธิปไตยโดยตรงตรง ผมไม่ต้องการให้ใครแอบแฝงเอาประชาธิปไตยมาอ้าง ผมเก็บข้อมูลของเขาตั้งแต่พฤติการณ์เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงข้อบังคับพรรคบอกได้เลยว่ามันเป็นอันตรายกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณฐพร เคยเป็นอดีตทนายความของนายวีระ สมความคิด อดีตทนายความเครือข่ายหัวใจคนไทยรักชาติ และอดีตที่ปรึกษากฎหมายของประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมาก่อน

อย่างไรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กำหนดไว้เพียงว่าผู้ใดทราบว่ามีการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุขสามารถร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วันผู้ร้องสามารถยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ แต่ทั้งนี้การกระทำที่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเป็นเหตุยุบพรรค เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคยังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 92

ซึ่งกรณีดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่า จะต้องเป็นกรณีที่ศาลพิจารณาจากคำร้องของกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้นหรือไม่ หรือหากศาลฯดำเนินการไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรได้ว่าพรรคการเมืองมีการกระทำการที่มีการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็สามารถพิจารณาสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-351686


จำนวนผู้อ่าน: 2052

20 กรกฎาคม 2019