ภัยแล้งทำข้าววิกฤตหนัก พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศลดลงครึ่งหนึ่ง เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาหายไป 26% ผลกระทบจาก 4 เขื่อนหลัก ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสักฯเหลือน้ำใช้การได้แค่ 9% ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าฤดูแล้งปี 2563 ด้านสภาเกษตรกรหวั่นปีหน้าชาวนาอาจต้องถึงขั้นซื้อข้าวเขากิน โรงสีข้าวจี้รัฐบาลต้องออกมาตรการพิเศษจ่ายเงินเยียวยาพิเศษให้ชาวนาที่ข้าวเสียหายหมด เผยชุดนโยบายประกันรายได้ไม่มีประโยชน์กับชาวนา เพราะไม่มีข้าวจะขาย ด้าน ก.เกษตรฯขยับ “เฉลิมชัย” ควง 3 รมช.ดูเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์
สถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืชหลักของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าว” กำลังตกอยู่ในสภาวการณ์น่าเป็นห่วงจากภัยแล้ง “ฝนน้อยน้ำน้อย” ที่มาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ปรากฏเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 12,450 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 67.17 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำระบายถึง 124.38 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศเหลือปริมาตรน้ำใช้การได้แค่ 11,000 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ในจำนวนนี้มีน้ำไหลลงอ่าง 59.79 ล้าน ลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำระบายมีถึง 118.87 ล้าน ลบ.ม. จนหลายฝ่ายกังวลกันแล้วว่า ด้วยปริมาณน้ำใช้การได้ที่เหลืออยู่ในขณะนี้ “ไม่น่าเพียงพอ” ต่อกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงในปี 2563
ทั้ง ปท.น้ำคงเหลือแค่ 38%
มีรายงานจากคณะทำงานด้านอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเข้ามาว่า ภาพรวมน้ำทั้งประเทศไทยขณะนี้มีปริมาณน้ำคงเหลือแค่ร้อยละ 38.85 “ยกเว้น” ภาคใต้เพียงภาคเดียวที่มีปริมาณเกินกว่าร้อยละ 50 ความชื้นในอากาศ ซึ่งจะมีผลต่อปฏิบัติการในการทำฝนหลวงก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้งปี 2563 จากภาพถ่ายดาวเทียมมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ก็ “ยกเว้น” ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศที่มีความชื้นสูงขึ้น “ช้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ” ส่วนพายุมูนที่เป็นพายุลูกแรก ๆ ของฤดูฝนปีนี้นั้น “ไม่ได้ช่วยปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำภาพรวมของประเทศเลย”
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจาก 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันใช้การได้เพียง 1,560 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 มีน้ำใช้การได้คิดเป็นร้อยละ 34 เฉพาะเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตอนนี้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างเลย ทั้ง ๆ ที่ฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด ส่อให้เห็นว่า สถานการณ์แล้งในปี 2563 จะเข้าขั้นรุนแรงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2550 ค่อนข้างแน่นอนแล้ว
“จากแผนการจัดสรรน้ำระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-31 ส.ค. 2562 ที่ปริมาณน้ำ 31,280 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏมีการจัดสรรน้ำใช้ไปแล้ว 7,176 ล้าน ลบ.ม.ในต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ รวมพื้นที่ 7.65 ล้านไร่ มีน้ำใช้การ 2,245 ล้าน ลบ.ม. แผนการจัดสรรน้ำ 11,280 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,007 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 27 แม้ว่าการจัดสรรน้ำยังอยู่ในแผน แต่ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 เขื่อนน้อยลงมาก ช่วงเวลาที่จะถึงฤดูแล้งปี 2563 เดือนเมษายนหน้าเหลืออีก 9 เดือน มีความจำเป็นที่จะต้องปรับแผนการใช้น้ำของประเทศก่อนที่จะเริ่มต้นฤดูน้ำของปี 2563 ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้”
พท.ปลูกข้าวลดลง 50%
ด้านสถานการณ์การปลูกข้าวในประเทศขณะนี้ จากภาพถ่ายดาวเทียมการเพาะปลูกข้าวเปรียบเทียบกับปี 2561 พบว่า ทั่วประเทศมีการปลูกข้าวลดลงถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา การปลูกข้าวได้ลดลงร้อยละ 26 โดยเชื่อว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นผลมาจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่หมดฤดูฝนของปีนี้
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมอยู่ระหว่างประเมินพื้นที่ปลูกข้าวที่ประสบความเสียหายจากภัยแล้ง เนื่องจากจะเริ่มฤดูเพาะปลูกในเดือนสิงหาคม และหากฝนทิ้งช่วงหลังจากนี้ถึงเดือนสิงหาคม จะทำให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีต้องเก็บเกี่ยวช้ากว่าปกติที่ควรจะเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม หรืออาจจะทำให้ผลผลิตที่เกี่ยวได้ขาดความสมบูรณ์
“หากข้าวเสียหายอย่างรุนแรงจากภัยแล้งจนชาวนาไม่มีข้าวไปขาย ก็เท่ากับว่าชาวนาจะไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลเลย เพราะตามหลักการประกันราคาจะต้องเอาข้าวไปขายและหักส่วนต่างราคาตลาดกับราคาตลาดอ้างอิง ถ้าไม่มีผลผลิตเสียหายโดยสิ้นเชิง ชาวนาก็ไม่มีข้าวไปขาย ดังนั้นผลผลิตข้าวที่ลดลงจะทำให้ราคาข้าวในตลาดขยับขึ้นไปเกินกว่าตันละ 15,000 บาทแน่”
แนวทางที่รัฐต้องทำเพิ่มจากการประกันรายได้ก็คือ “วางมาตรการเสริมพิเศษเรื่องภัยแล้ง” ช่วยเหลือชาวนาที่ประสบปัญหาข้าวเสียหายโดยสิ้นเชิง ด้วยการจ่ายเยียวยาค่าใช้จ่าย เช่น ปัจจัยการผลิต, พันธุ์ข้าว, ปุ๋ย, ยา, ค่าแรง กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาทั้งหมด
“ตอนนี้เป็นห่วงว่า สถานการณ์ราคาข้าวอาจจะปรับขึ้นไปสูงจนส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงภาคการส่งออกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2561/62 ซึ่งตอนนั้น ข้าวหอมมะลิเสียหาย 4-5 จังหวัด ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงจาก 8 ล้านตันเหลือ 6.5-7 ล้านตัน ดันราคาข้าวเปลือกต้นฤดูขึ้นไปถึงตันละ 18,000 บาท ราคาส่งออกตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ผลคือตลาดรับไม่ได้”
ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ คาดการณ์ GDP ภาคเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 8% ของ GDP ประเทศ “อาจติดลบ” เพราะพืชไร่ทุกรายการได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าว, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง, ยางพารา ผลไม้ จะเสียหายอย่างหนักมาก ข้าวนาปีน้ำฝนในภาคเหนือและอีสานจะเป็น 0 เขตชลประทานพอทำได้บ้างแต่ไม่เต็มที่ ปลายปีนี้ชาวนาอาจต้องซื้อข้าวกิน”
รัฐอ้อมแอ้มมาตรการเสริม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าเกษตรว่า จะใช้นโยบายการประกันรายได้ของเกษตรกรเป็นแนวทางหลักที่จะนำมาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้ที่ดี ส่วนรายละเอียดในการปฏิบัติต้องหารือร่วมกับ 3 ฝ่ายคือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และเกษตรกร “ผมขอเวลาหารือกับหน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน อย่าง สินค้าเกษตรตัวไหนราคาต่ำกว่า 60 บาท/กก. ขายได้ในราคา 55 บาท/กก. รัฐบาลก็พร้อมจ่ายส่วนต่างให้ แต่หากสินค้าเกษตรตัวไหนขายในราคาสูงกว่าราคาที่ประกันรายได้ไว้ รัฐก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายส่วนต่างให้อีก”
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภัยแล้งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องวางมาตรการรับมือ “ฤดูทำนาปีนี้น้ำจะน้อยต้องประชาสัมพันธ์ไปถึงเกษตรกรและเตรียมแผนรับมือ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาภัยแล้งยืนยันว่า ยังไม่ถึงวิกฤตที่จะต้องประกาศเขตภัยแล้ง” นายเฉลิมชัยกล่าว
สทนช.ปรับแผนการจัดสรรน้ำ
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า จะมีการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 8/2562 ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ โดยที่ประชุมจะพิจารณาวิเคราะห์ทบทวนปริมาณน้ำต้นทุน 15 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2562 การปรับแผนการจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ และปริมาณน้ำต้นฤดูแล้งปี 2562/63 ตลอดจนการพิจารณามาตรการป้องกันภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ การทยอยลดการระบายน้ำ รวมไปถึงขั้นการใช้น้ำจาก dead storage ของเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-352141
จำนวนผู้อ่าน: 2178
23 กรกฎาคม 2019