EEC ผนึก อบจ.ระยอง นำร่องป้อนขยะ 500 ตัน เข้าโรงไฟฟ้าขยะ GPSC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ เลขาฯ EEC) กล่าวว่า จากปัญหาขยะมูลฝอยที่สูงถึง 4,268 ตัน/วัน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงกำหนดแผนบริหารจัดการปัญหาขยะโดยเร่งขยายผลต้นแบบนำร่อง “โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง” (Rayong Waste to Energy Project) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. ที่จะนำขยะที่ได้จากการคัดแยกมาป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ขนาด 10 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะได้สูงถึง 500 ตัน/วัน

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะในหลุมฝังกลบได้มากกว่า 220,000 ตัน/ปี รวมถึงผลตอบแทนทางอ้อม ช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นมีรายได้จากโครงการ เช่น สารปรับปรุงดิน ประหยัดงบการสร้างหลุมฝังกลบ รายได้จากค่าบำบัดน้ำเสีย รายได้น้ำดิบ รวมประมาณ 2,323 ล้านบาท ยังไม่นับรวมค่าจ้างกำจัดขยะอีก 100 บาท/ตัน

และจะขยายผลของโครงการฯ ที่จะเร่งส่งเสริมการตั้งโรงไฟฟ้า RDF ภายในพื้นที่ ซึ่งจะรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงการนำขยะฝังกลบ มาทยอยกำจัดควบคู่ไปด้วย

สำหรับการบริหารตัดการขยะใน EEC จะอยู่ภายใต้ตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ข้อ คือ 1.การจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การกำจัดกับปริมาณขยะมูลฝอย ความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย

2.การส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชนอย่างน่าอยู่ โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง

3.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างกลไกการตรวจสอบการปล่อยมลพิษและของเสีย

4.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าต้นน้ำและดิน เป็นต้น

ข้อมูลสำรวจจากกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2561 เปิดเผยให้เห็นว่า พื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีปริมาณขยะมูลฝอย 4,268 ตัน/วัน แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรีมีปริมาณขยะรวม 2,591 ตัน/วัน รองลงมาคือระยองมีปริมาณขยะ 967 ตัน/วัน และฉะเชิงเทรามีปริมาณขยะเกิดขึ้นรวม 709 ตัน/วัน รวมทั้งยังมีขยะที่รับจากกรุงเทพฯ เพื่อกำจัดในพื้นที่ฉะเชิงเทรา อีกสูงถึงวันละ 2,000 – 3,000 ตัน/วัน () และที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ปริมาณขยะก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ที่ผ่านมา การกำจัดขยะในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่จะใช้ระบบฝังกลบ เพราะมีต้นทุนต่ำและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน และปัจจุบันเขตฝังกลบขยะใน EEC ได้กระจายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่แล้ว และยังเปิดใช้งานมากว่า 10 ปี จึงทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เพียงพอ รวมทั้งปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-360000


จำนวนผู้อ่าน: 3052

14 สิงหาคม 2019