“แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน และเซเว่นอีเลฟเว่น” 3 ร้านค้าสะดวกซื้อชั้นนำในญี่ปุ่น แข่งกันติดตั้ง “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” ภายใต้โลโก้ร้าน ตามอาคารสำนักงาน, สนามบิน และสถานีรถไฟทั่วประเทศ เป็นการเปิดช่องทางใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภค ตั้งเป้าแข่งกัน ผุดอีกนับพันตู้ภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า เมื่อการขยายธุรกิจร้านค้าปลีกด้วยการเปิดสาขาใหม่ ๆ เพิ่ม เริ่มมาถึงจุดอิ่มตัว บรรดาผู้นำในตลาดร้านค้าสะดวกซื้อของญี่ปุ่น ได้แก่ แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน และเซเว่นอีเลฟเว่น ต่างก็จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ใหม่ในการแข่งขันและต่อยอดธุรกิจออกไป ทำให้เกิดกระแสล่าสุดของการเปิดพื้นที่แข่งขันค้าปลีก นั่นคือ การนำ “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” ที่ติดชื่อแบรนด์และโลโก้ของแต่ละร้าน ไปติดตั้งตามอาคารสำนักงานและจุดต่าง ๆ ที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เช่น สนามบินและสถานีรถไฟ
ตู้จำหน่ายอัตโนมัติของ “แฟมิลี่มาร์ท” ในสนามบิน
“แฟมิลี่มาร์ทและลอว์สัน” นับเป็น 2 รายแรก ที่ขยับตัวก่อน โดยก่อนหน้านี้ ทางร้านได้ทดลองรูปแบบร้าน “มินิ” หรือ “ไมโคร” ที่ไม่ต้องมีพนักงานประจำร้านและลูกค้าจำเป็นต้องบริการตนเองในการจับจ่ายซื้อของ ยกตัวอย่าง “ร้านลอว์สัน” ขนาดไมโคร ที่เข้าไปเปิดในอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เป็นร้านลักษณะ คือ บริการตนเอง ลูกค้าสามารถหยิบสินค้าจากชั้นวาง นำมาสแกนราคาที่จุดชำระเงิน แล้วหักเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านบัตร ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เอง ก็มีแผนจะทำร้านบริการตนเองในลักษณะเดียวกันนี้ในอนาคตอันใกล้
ร้านขนาดไมโครของ “ลอว์สัน” มีทั้งตู้จำหน่ายอัตโนมัติ และ ระบบชำระเงินแบบบริการตนเอง
ส่วนแผนติดตั้ง “ตู้จำหน่ายอัตโนมัติ” ภายใต้แบรนด์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ... นายยูกิ โทดะ โฆษกของบริษัท เปิดเผยว่า จะคัดสรรสินค้าบางส่วนที่มีจำหน่ายในร้านแบบปกติของ 7-11 และเป็นสินค้าคุณภาพสูง เช่นเดียวกับที่จำหน่ายในร้าน มาจำหน่ายผ่านตู้อัตโนมัติเหล่านี้
“เซเว่นอีเลฟเว่น” ประเทศญี่ปุ่น มีแผนจะติดตั้ง “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” เพื่อให้บริการลูกค้าจำนวน 500 ตู้ ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2562 ขณะที่ “แฟมิลี่มาร์ท” มีแผนขยายจำนวนตู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 3,000 ตู้ ภายในกรอบเวลาเดียวกัน ส่วน “ลอว์สัน” เปิดเผยว่า จะมีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จำนวน 1,000 ตู้ ภายในสิ้นเดือน ก.พ. ปีหน้า (2561)
ในสมรภูมิการแข่งขันด้าน “ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ” ของบรรดาร้านค้าสะดวกซื้อของญี่ปุ่นนั้น “แฟมิลี่มาร์ท” ถือเป็นผู้บุกเบิกตลาดรายแรก ปัจจุบัน มีตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของ “แฟมิลี่มาร์ท” ตั้งอยู่ตามอาคารสำนักงานหลายแห่งทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 2,100 ตู้ ตู้เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อการจำหน่ายอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคได้ด้วย อาหารพวกสลัดและอาหารกล่อง (เบนโตะ) ประเภทข้าวกลางวัน พร้อมรับประทาน เมื่อจำหน่ายออกมาจากตู้อัตโนมัติจะยังคงสภาพที่ดี และกล่องจะไม่หล่นลงมาหน้าคว่ำ หรือ พลิกหงาย เป็นอันขาด
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีร้านค้าสะดวกซื้อจำนวนมากกว่า 55,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ระยะหลัง ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการเปิดตัวของสาขาใหม่ ๆ เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ตลาดอาจจะเริ่มถึง “จุดอิ่มตัว” แล้ว นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ช่วยเสริมกระแสการบุกตลาดด้วยตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของบรรดาร้านค้าสะดวกซื้อ ก็คือ “ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน” ทำให้ตู้อัตโนมัติ และร้านประเภท “บริการตนเอง” เป็นทั้งทางเลือกและทางออกที่ดี สำหรับสถานการณ์เช่นนี้
ที่มา: m.thansettakij.com
จำนวนผู้อ่าน: 2599
25 กันยายน 2017