‘อหิวาต์หมู’ ระบาดหนักท่าขี้เหล็ก หวั่นลามเข้าไทย

ผวาอหิวาต์หมูลามเข้าไทย สั่งคุมเข้มพื้นที่เฝ้าระวัง 20 จังหวัดชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน “เมียนมา กัมพูชา ลาว” ชี้ “เชียงราย” เสี่ยงสุด 3 อำเภอ ในจุดที่แม่น้ำรวกไหลผ่าน หลังพบโรค ASF ระบาด 4 เมืองในรัฐฉาน รวมทั้งท่าขี้เหล็ก เอกชนลงขันซื้อหมูมากำจัด หวั่นกระทบทั้งอุตสาหกรรม 2 แสนล้าน ด้านอธิบดีปศุสัตว์ยันยังไม่พบในไทย

แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาวรุนแรงหนัก และล่าสุดมีข่าวว่า ได้มีการตรวจพบผลบวก positive ในบางจังหวัดของไทย ในหมูของชาวบ้านที่เลี้ยงตามตะเข็บแนวชายแดน 1-2 ตัว เช่น จ.ตาก จ.นครพนม ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่ได้เกิดการระบาดในพื้นที่

เชียงรายเสี่ยงคุมเข้มเต็มพิกัด

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือสถานการณ์ใน จ.เชียงราย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกรมปศุสัตว์และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ควบคุมสถานการณ์ในการเคลื่อนย้ายหมูอย่างเข้มงวดทุกเส้นทาง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดกว่าการประกาศเขตเฝ้าระวัง ที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการใน 18 จังหวัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีการประกาศเขตโรคระบาดอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเร่งทำลายหมูจากรัศมีเดิม 3 กม. เพิ่มเป็น 5 กม. ในพื้นที่ 3 อำเภอ ในจุดที่แม่น้ำรวกไหลผ่าน โดยเฉพาะ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เวียงแก่น ซึ่งมีหมูของผู้เลี้ยงรายย่อยประมาณ 10,000 ตัวโดยเร็ว จากทั้งจังหวัดมีหมูประมาณ 150,000 ตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 7,000 คน

18 จว.พื้นที่เฝ้าระวัง

แหล่งข่าวกล่าวว่า เชียงรายเป็น 1 ใน 18 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังเมื่อหลายเดือนก่อนแล้ว และค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นมาหลังจากมีข่าวที่ผู้เลี้ยงหมูใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ตรงกันข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้โยนทิ้งหมูตายจากโรค ASF ลงในแม่น้ำรวก ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2562 และเมื่อ 16 สิงหาคม 2562 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ประกาศพบการระบาดของโรค ASF อย่างเป็นทางการในรัฐฉาน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ เชื้อไวรัสของโรค ASF ปนเปื้อนอยู่ในน้ำได้เป็นปี และปกติผู้เลี้ยงหมูจะสูบน้ำจากแม่น้ำรวกมาใช้เลี้ยงหมู

ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่จัดเป็นพื้นที่เสี่ยง อาทิ จันทบุรี ตราด สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ อำนาจเจริญ มุกดาหาร เลย นครพนม แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน พิษณุโลก ฯลฯ

หวั่นทั้งอุตสาหกรรม 2 แสนล้าน

โรคนี้ไม่ติดคนและติดหมูได้จากการบริโภคทางเดียว การดื่มน้ำจากแม่น้ำรวกทำให้หมูติดโรคได้โดยตรง ยกตัวอย่างประเทศเวียดนามที่ระบาดหนัก เพราะนำหมูตายทิ้งลงในแม่น้ำ แล้วชาวบ้านนำน้ำเข้าไปใช้ในฟาร์มเพราะไม่มีน้ำบาดาล

“ตอนนี้เชียงรายเหมือนถูกประกาศเป็นเขตโรคระบาดกลาย ๆ เพียงแต่ไม่ประกาศเป็นทางการ เพราะหากประกาศเป็นทางการเกรงเกิดผลกระทบคนทั่วประเทศไม่กินหมู ราคาตก ทั้งที่โรค ASF ไม่ติดคน แต่จะกระทบต่อการส่งออกหมู ต้องรอดูว่ากรมปศุสัตว์จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นจังหวัด หรือเป็นเขต หรือทั้งประเทศ”

เพราะหากไม่ออกประกาศจะไม่สามารถใช้งบประมาณฉุกเฉิน หรืองบบรรเทาสาธารณภัยได้ ตอนนี้ต้องอาศัยเงินบริจาคของผู้เลี้ยงรายใหญ่เข้าไปซื้อหมูมาทำลาย หรือเข้าโรงเชือดกรณีตรวจเจอผลบวกและต้องขีดวงทำลายรัศมี 3-5 กม. ซึ่งหากเกิดโรค ASF มูลค่าความเสียหายทั้งอุตสาหกรรมกว่า 2 แสนล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

โอดรัฐชดเชยต่ำ-ห้ามเลี้ยง 2 ปี

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงรายย่อยกำลังรวมตัวกันเพื่อยื่นเรื่องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กรณีกรมปศุสัตว์ได้เข้าไปดำเนินการทำลายหมู เนื่องจากจ่ายเงินชดเชยให้ในราคาที่ต่ำ และห้ามเลี้ยงหมูเป็นระยะเวลา 2 ปี ทำให้ผู้เลี้ยงหมูเดือดร้อน เนื่องจากขาดรายได้ในการดำรงชีวิต เลี้ยงดูแลครอบครัว อีกทั้งมีภาระหนี้ที่มี จึงต้องการให้ราชการเข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ที่ทางการเข้ามาทำลายหมูและจ่ายค่าชดเชยให้ต่ำ

เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เลี้ยงบางรายลักลอบเคลื่อนย้ายหมูออกนอกพื้นที่ หลายคนมองว่า การเกิดโรคครั้งนี้จะทำให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยตายหมด อีก 2 ปีคงเหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่”

รัฐไม่มีงบฯ-เอกชนลงขันซื้อหมู

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้โรค ASF ยังไม่เกิดใน จ.เชียงราย เพียงแต่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก มีการตั้งด่าน 12 จุดใหญ่ แนวตะเข็บระหว่างแม่สายจะเข้ามาเชียงราย และ 15 จุดย่อย ตามบ้านที่เลี้ยงหมู ขณะเดียวกันในรัศมีที่แม่น้ำรวกผ่านหลายอำเภอครอบคลุม 10-20 กม. ทางสมาคมได้ร่วมกับทางกรมปศุสัตว์ได้ไปซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยตามตะเข็บชายแดนรัศมี 5 กม. ประมาณ 1,000 กว่าตัว จากผู้เลี้ยงทั้งหมด 86 ราย โดยใช้เงินของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ จ่ายไปกว่า 3.6 ล้านบาท และมีเงินจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมาช่วยอีก 1 ล้านกว่าบาท โดยกรมปศุสัตว์ยังไม่มีงบฯช่วย

ทำแผนที่ฟาร์มหมู 20 จว.

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมพร้อม รมช.ประภัตรได้ขึ้นไปแก้ไขสถานการณ์ที่มีหมูตายจำนวนมากจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ระบาดจากจีนเข้ามาใน 4 เมืองของรัฐฉานคือ เมืองเชียงตุง เมืองลา เมืองท่าขี้เหล็ก และเมืองมัทแมน แล้วนำหมูที่เป็นโรคตายทิ้งลงแม่น้ำรวก ในฝั่งเมียนมา แล้วลอยเข้ามาในเขตชายแดนที่ติดกับ อ.แม่สาย 17 กม. ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเสี่ยงจะระบาดเข้าสู่ฟาร์มหมูในฟาร์มของคนไทยที่เลี้ยงในระยะ 1-3 กม.ติดกับแม่น้ำ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรเชียงรายและสมาคมจึงออกสำรวจและซื้อหมูจากชาวบ้านที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคมาตรวจสอบและกำจัด รวมทั้งเก็บซากหมูของเมียนมาที่ลอยมาตามแม่น้ำรวกไปฝั่งกลบในที่ปลอดภัย

“รมช.ประภัตรได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าฯเชียงรายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ออกตรวจสอบตลอดเวลา หาทางป้องกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งซื้อมาตรวจสอบ ล่าสุดยังไม่มีหมูไทยติดโรคนี้ ตอนนี้กำลังเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จำนวนมากได้ขึ้นไปตรวจสอบ ทำแผนที่ฟาร์มเลี้ยงหมูและการป้องกันการนำเข้าหมูใน 20 จังหวัดที่ติดประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่เชียงรายจนถึงภาคตะวันออกที่ติดกับกัมพูชา”

อธิบดีปศุสัตว์ยันไม่พบโรคในไทย

ด้าน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ผู้เลี้ยงหมูในฝั่งประเทศเมียนมาทิ้งหมูที่ตายจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรลงแม่น้ำรวกแล้วไหลเข้ามาในเขตไทยที่กั้นเขตแดนนั้น เท่าที่ตรวจสอบยังไม่พบโรคนี้ในหมูไทย ซึ่งระยะเวลาในการตรวจใช้เวลาเพียง 7 วันเท่านั้น จึงยังไม่มีการประกาศเขตโรคระบาด และยังไม่สามารถนำงบไปซื้อหมูที่จะเสี่ยงติดโรคได้ ภาคเอกชนจึงต้องลงขันกันไปซื้อหมูในฟาร์มที่เสี่ยงจะติดโรค เพราะหากพบโรคเร็ว กำจัดเร็ว จะช่วยป้องกันการลุกลามของโรคได้มาก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-369057


จำนวนผู้อ่าน: 1940

09 กันยายน 2019