“ไทยไฟท์”จับมือ”ศรีชวาลา” ทุ่มปั้นเชน”โรงแรม-ฟิตเนส”

“THAI FIGHT” ประกาศต่อยอดแบรนด์สู่ธุรกิจใหม่ ทั้ง “โรงแรม-อาหาร-ฟิตเนส-เครื่องดื่ม” ผนึกตระกูล “ศรีชวาลา” เจ้าพ่อโรงแรมย่านสุขุมวิท ยกเครื่องโรงแรมในพอร์ตทั้งในประเทศ-ยุโรป-อังกฤษ ปั้นแบรนด์ “เดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล” ตั้งเป้าทุกหน่วยธุรกิจพร้อมเปิดให้บริการกลางปีหน้า พร้อมดันธุรกิจโมเดลใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯปี”64

นายนพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด ผู้จัดการแข่งขันชกมวยไทย THAI FIGHT เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แบรนด์ไทยไฟท์ถือเป็นแบรนด์ของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่งประสบความสำเร็จมาก หลังเปิดตัวด้วยการจัดอีเวนต์ชกมวยมานาน 10 ปี จากการทำวิจัยของบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศจีนพบว่า ปัจจุบันแบรนด์ไทยไฟท์เป็นที่รับรู้และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคแล้วมากกว่า 1,000 ล้านคนในทุกภูมิภาคทั่วโลก บริษัทจึงเร่งต่อยอดแบรนด์ไปในธุรกิจโรงแรม อาหาร ฟิตเนส และเครื่องดื่ม เพื่อต่อยอดให้แบรนด์มีมูลค่าในเชิงธุรกิจและจับต้องได้มากขึ้น และสามารถเดินต่อและเติบโตได้ในระยะยาว ภายใต้คอนเซ็ปต์ “1 คอนเซ็ปต์หลายคอนเทนต์” คิดถึงประเทศไทย คิดถึงความเป็นไทยต้องคิดถึงแบรนด์ “ไทยไฟท์”

ต่อยอดแบรนด์สู่ 5 ธุรกิจใหม่

นายนพพรกล่าวว่า จากความพยายามในการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งและคนรู้จักแบรนด์มากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีแผนต่อยอดแบรนด์ด้วยการขยายฐานธุรกิจไปยังธุรกิจอื่น ๆ รวม 5 ธุรกิจหลัก จากเดิมที่เน้นต่อยอดแบรนด์กับสินค้าเมอร์แชนไดส์เท่านั้น ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเครื่องดื่ม (อยู่ระหว่างการตั้งชื่อแบรนด์) ในกลุ่มเครื่องดื่มดูแลสุขภาพ ไม่มีน้ำตาลและกาเฟอีน เป็นเซ็กเมนต์ใหม่ของสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่ม โดยมีแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาร่วม 4 ปีเต็ม

2.ธุรกิจฟิตเนส ภายใต้แบรนด์ “ไทยไฟท์ ฟิตเนส” เป็นฟิตเนสคอนเซ็ปต์มวยไทยที่มีการออกแบบที่มีความทันสมัย ทั้งรูปลักษณ์และอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย 3.ธุรกิจอาหาร ภายใต้แบรนด์ “ไทยไฟท์ คาเฟ่” ร้านอาหารไทยที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพและสมุนไพรเป็นหลัก 4.ธุรกิจผลิตภัณฑ์ผักและสมุนไพรปลอดสารพิษ ภายใต้แบรนด์ “ไทยไฟท์ ไลฟ์” และ 5.ธุรกิจโรงแรมแบรนด์ “เดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล” โดยร่วมกับกลุ่มของนายกฤษน์ ศรีชวาลา เจ้าของบริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมอยู่ในประเทศไทยรวมกว่า 10 แห่ง อาทิ พูลแมน แบงค็อก แกรนด์ สุขุมวิท, ฮอลิเดย์ อินน์ แบงค็อก สุขุมวิท, โนโวเทล แบงค็อก เพลินจิต, โนโวเทล แบงค็อก สีลม ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมในต่างประเทศอีกกว่า 30 แห่ง เช่น ประเทศอังกฤษ อาทิ The Lion Hotel, Shrewbury, The White Swan Hotel, Halifax ประเทศเยอรมนี อาทิ Days Inn Berlin West, Ibis Hotel Erfurt Ost, Ibis Gelsenkirchen), TRYP by Wyndham Bad Oldesloe), TRYP by Wyndham Berlin City East ฯลฯ

ผุดเชน รร. “เดอะ ไทยไฟท์”

นายนพพรกล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายทำให้แบรนด์ไทยไฟท์เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายการบริหารโรงแรมของคนไทย และขยายโรงแรมในเครือข่ายทั้งในประเทศและทั่วโลก เช่นเดียวกับเชนบริหารโรงแรมระดับโลกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือไอเอชจี หรือแอคคอร์ โดยในช่วงเริ่มต้นนี้บริษัทได้ลงทุนรีโนเวตโรงแรมเมอร์เคียว หาดละไม เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ขนาด 60 ห้อง ของกลุ่มศรีชวาลาให้เป็นแบรนด์เดอะ ไทยไฟท์ โฮเทลแล้ว พร้อมนำเสนอความเป็นไทยเข้าไปในบริการต่าง ๆ ภายในโรงแรมด้วย อาทิ อาหาร, นวดสปา (แบบมวยไทย) สมุนไพรไทย ฯลฯ

“เราตั้งใจปรับโฉมโรงแรมที่สมุยให้เป็นโรงแรมต้นแบบของเดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล พร้อมนำเสนอความเป็นไทยสู่สายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก ส่วนโครงการที่ 2 อยู่ต่างประเทศคือ เตรียมรีโนเวตโรงแรมที่อังกฤษ 200 กว่าห้อง เป็นแบรนด์เดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล สำหรับเป็นต้นแบบในตลาดยุโรป ซึ่งเรามีแผนแถลงข่าวร่วมกับกลุ่มศรีชวาลาในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้” นายนพพรกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในซอยสุขุมวิท 49 (บริเวณเรซิเดนซ์ของกลุ่มศรีชวาลา) ให้เป็นศูนย์รวมของแบรนด์ไทยไฟท์หลาย ๆ ธุรกิจไว้ในที่เดียวกัน ทั้งธุรกิจฟิตเนส, อาหาร, ร้านจำหน่ายสินค้าเมอร์แชนไดส์แบรนด์ “ไทยไฟท์ ช็อป” รวมถึงสวนผักและสมุนไพรปลอดสารพิษ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้างทั้งหมด

พร้อมเปิดตัวกลางปีหน้า

นายนพพรกล่าวด้วยว่า ตามแผนทั้งหมดธุรกิจใหม่ภายใต้แบรนด์ “ไทยไฟท์” จะเห็นเป็นรูปธรรมและเปิดให้บริการเกือบทั้งหมดในช่วงกลางปี 2563 ทั้งในส่วนของโรงแรมเดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล สมุย, ศุนย์รวมแบรนด์ไทยไฟท์ (สุขุมวิท 49) ส่วนโรงแรมเดอะ ไทยไฟท์ โฮเทล ที่อังกฤษ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงประมาณปลายปีหน้า

“ผมมองว่าเมื่อแบรนด์เราแข็งแรง การนำแบรนด์ไปต่อยอดในธุรกิจใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก ยิ่งเรามีฐานคนที่รู้จักและเข้าถึงแบรนด์กว่า 1 พันล้านคน ยิ่งทำให้เราสามารถนำดาต้าที่มีมาบริหารจัดการ และต่อยอดธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละกลุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญเชื่อว่าเวลาเราจะทำอะไรก็จะทำให้เรามีโอกาสสูงตามไปด้วย” นายนพพรกล่าวและว่า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมนั้นถือว่าเป็นธุรกิจที่จะมีพอร์ตขนาดใหญ่ที่สุด

นายนพพรยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจเมอร์แชนไดส์ถือเป็นธุรกิจแรกที่บริษัทต่อยอดจากอีเวนต์ชกมวยไทยไฟท์ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งการตอบรับด้านแบรนด์และยอดขาย ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าอยู่ประมาณ 300 ประเภทสินค้า วางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และอีเวนต์ออนกราวนด์เป็นหลัก ซึ่งเตรียมลงทุนเปิดช็อปโดยเฉพาะ สาขาต้นแบบอยู่ที่สุขุมวิท 49 และมีแผนขยายไปในทุก ๆ จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงตลาดในต่างประเทศด้วย

เล็งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯปี’64

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในช่วงปี 2563-2564 ถือเป็นปีที่บริษัทขยายการลงทุนอย่างก้าวกระโดด และจะเป็นปีที่แบรนด์ไทยไฟท์มีความชัดเจนและจับต้องได้มากขึ้น พร้อมกับมีแผนจะนำบริษัท ไทยไฟท์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2564

“ถึงวันนั้นเราจะมีรายได้มาจากหลายช่องทาง ขณะที่การลงทุนของบริษัทจะไม่เน้นใช้เงินจำนวนมาก จะเน้นลงทุนโดยเอามูลค่าแบรนด์เข้าไปร่วมลงทุนเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เรามีรายได้แบบไม่มีการลงทุน ความเสี่ยงก็น้อย ดังนั้นสิ่งที่ผมเน้นคือทำให้แบรนด์เรามีแวลูที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนทั่วโลกรู้จัก โลกของการทำธุรกิจในวันนี้ไม่มีใครที่จะลงทุนแข่งกับกลุ่ม ซี.พี. หรือกลุ่มไทยเบฟฯได้ ผมจึงเปลี่ยนมุมมองมาลงทุนเรื่องแบรนด์ และก็จะทำให้ทุกคนยอมรับว่าการลงทุนสร้างแบรนด์ก็สามารถประสบความสำเร็จได้” นายนพพรกล่าว

คลิกอ่านเพิ่มเติม… “นพพร” ปั้น “ไทยไฟท์” สู่โกลบอลแบรนด์ครองใจคนทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-370718


จำนวนผู้อ่าน: 2109

13 กันยายน 2019