เงินบาทแข็งค่าทั้งกระดาน “TMB Analytics” ชี้แข็งค่ากว่าทั้ง “คู่ค้า-เพื่อนบ้าน” ทำสถิติแข็งสุดรอบ 6 ปีอีกครั้ง แตะ 30.38 บาท/ดอลลาร์ หลัง “อีซีบี” หั่นดอกเบี้ย เตือนรับมือเอฟเฟ็กต์ “เฟด” ลดดอกเบี้ยตามกลางเดือน ก.ย.นี้ “TMB-KTB” เก็ง กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งปลายปีนี้ ฟากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยจับตาฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้าไทย
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างน่ากังวล หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและทำมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติม รวมถึงล่าสุดเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อพันธบัตร (บอนด์) โดยเงินบาททำสถิติแข็งค่ามากที่สุดครั้งใหม่ถึง 30.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะประชุม 19 ก.ย.นี้ ลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามราว 0.25% จะยิ่งทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ต้องตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ภายในปีนี้ด้วย คาดว่าอย่างเร็วคงเป็นเดือน พ.ย. อย่างช้า ธ.ค. แต่เชื่อว่า กนง.จะไม่รีบลดดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมรอบปลาย ก.ย.นี้
บาทแข็งโป๊กแซงเพื่อนบ้าน-คู่ค้า
การแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ ทำลายสถิติครั้งก่อนไปอีก แข็งสุดในรอบ 6 ปี และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หากเทียบเงินบาทกับสกุลเงินหลักต่าง ๆ ทั้งสกุลเงินของประเทศเพื่อนบ้าน และสกุลเงินของประเทศคู่ค้า ถือว่าเงินบาทแข็งค่าที่สุด เช่น เทียบกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่น เงินบาทแข็งค่ามากกว่า 5.08% แข็งกว่าดอลลาร์สหรัฐ 6.40% แข็งกว่าดอลลาร์สิงคโปร์ 7.21% แข็งกว่าดอลลาร์ไต้หวัน 7.40% แข็งกว่าดอลลาร์ออสเตรเลีย 8.78% แข็งกว่าเงินปอนด์ของอังกฤษ 9.48% แข็งกว่าค่าเงินยูโร 9.67% แข็งกว่าเงินวอนของเกาหลีใต้ถึง 12.29% เป็นต้น ทำให้การส่งออกยิ่งลำบาก เพราะขายของแล้วได้เงินกลับมาน้อยลง
ส่งออกอ่วม-ยอดติดลบอ่วม
“การแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะแข็งค่ากว่าในภูมิภาค แต่ตอนนี้เงินบาทแข็งค่ากว่าทั้งประเทศเพื่อนบ้านและคู่ค้า กับสกุลเงินหลักทุกสกุล หรือเรียกได้ว่าแข็งไปทั้งกระดาน ถ้าแข็งค่าขนาดนี้ ผมว่าเราไม่มีทางเลือกมาก อาจต้องมีการแทรกแซงค่าเงินเพิ่มขึ้น แม้ต้องเสียสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ไปบ้าง เพราะถ้าปล่อยบาทแข็งแบบนี้ไปเรื่อย ๆ คงไม่ไหว เพราะการนำเข้าส่งออกของไทยใช้สกุลดอลลาร์ถึง 80% ส่วนการส่งออกปีนี้ คาดว่าคงไม่อยู่ที่ 0% แต่น่าจะหดตัวราว -2.5% ส่วนการลดดอกเบี้ยจะช่วยให้ไม่ต้องแทรกแซงมากเกินไป”
นายนริศ กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายการเงินโลก มีแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเข้าสู่ “ศูนย์” อย่างยุโรปที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องจับตานโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่กังวลกันว่าระบบสถาบันการเงินทั่วโลกจะอยู่อย่างไร หากดอกเบี้ยสหรัฐเข้าสู่ “ศูนย์” นอกจากนี้ ไทยเองอาจจะต้องเปลี่ยนความเชื่อนับตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมาราว 20 ปีที่ว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ควรอยู่ต่ำกว่า 1.25% เนื่องจากขณะนี้ภูมิทัศน์ด้านการเงินโลกเปลี่ยนไปแล้ว
จับตาเงินไหลเข้า
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภายในปีนี้น่าจะเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งช่วงปลายปี ขณะที่การส่งออกปีนี้ดูจากตัวเลข 8 เดือนที่ออกมาแล้ว ทั้งปีน่าจะหดตัว -3%
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปัจจุบันต่างชาติถือครองตราสารหนี้อยู่ราว 9.8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกไปกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ หากธนาคารกลางทั่วโลกหลายแห่งมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน มีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และสินทรัพย์เสี่ยงในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) อีก โดยเฉพาะในไทย เพราะถูกมองเป็น safe haven
“ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ฟันด์โฟลว์ไหลออกไปแล้วกว่า 6.5 หมื่นล้านบาทโดยช่วงเดือน ก.ย.ไหลออกไป 1 หมื่นล้านบาท เดือน ส.ค.ไหลออกไป 3.3 หมื่นล้านบาท และเดือน ก.ค.ไหลออกไป 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันต่างชาติถือครองตราสรหนี้ไทยอยู่ราว 9.8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาทซึ่งช่วงที่เหลือของปี ก็คาดว่าน่าจะแกว่งบนแถว ๆ บริเวณนี้ ซึ่งปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้คือ สงครามการค้าว่าจะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ เพราะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนสูง หากมีความตึงเครียดหรือเรียกเก็บภาษีขึ้นมาอีก ทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาพเดิม” นางสาวอริยากล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-371501
จำนวนผู้อ่าน: 1992
16 กันยายน 2019