รัฐบาลตื่นปรากฏการณ์ “ทุนจีน” พาเหรดซื้อมหา”ลัยเอกชนแบบคุมเบ็ดเสร็จ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เรียกประชุมด่วน ! “สมาคมอุดมศึกษาเอกชน-กระทรวงพาณิชย์-ต่างประเทศ” ประเดิมตั้ง “คณะกรรมการพิเศษ” ตรวจสอบผลกระทบ พร้อมนโยบายยกเครื่องมหา”ลัยไทย ตั้งรับทัพนักศึกษาจีน หน่วยงานเกี่ยวข้องสะท้อนปัญหาคุณภาพ “หลักสูตร-ผู้สอน” ทั้งเรื่องกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจการศึกษาไทยที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกระแสการคืบคลานของนักลงทุนจีนที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจการศึกษาไทยชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ “มหาวิทยาลัยเกริก” คือ นายหวัง ฉางหมิง กับบริษัท หมิงจัง อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น จำกัด และในปี 2562 พบว่ามีกลุ่มทุนจีนได้เข้ามาไล่ซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยอีกหลายแห่ง และที่มีการเปิดเผยออกมาแล้วก็คือ “มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด”
โดยบริษัท ไชน่า หยู่ฮว๋า เอ็ดดูเคชั่น อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด (China YuHua Education Invesment Limited) ที่เข้ามาถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมเป็นสัดส่วนราว 49% และยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่อยู่ในระหว่างเจรจาซื้อขายกิจการอีก 3-4 แห่ง เนื่องจากธุรกิจการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ที่ต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนนักศึกษาที่ลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 30-50% ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนต่าง ๆ ต้องหันไปพึ่งพานักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะนักศึกษาจีนและนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน CLMV และการแข่งขันรุนแรงทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนต้องตัดสินใจขายกิจการ และที่น่าจับตาผู้ซื้อรายใหญ่คือกลุ่มทุนจีน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นฐานรองรับการส่งเด็กจีนเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทย
“สุวิทย์” เรียกถกด่วนทุนจีนบุก
แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจการศึกษาภาคเอกชนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรุกคืบของกลุ่มทุนจีนที่เข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ทำให้ขณะนี้ทางรัฐบาลเริ่มตื่นตัวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบหลายด้านหากปล่อยให้ต่างชาติเข้ามายึดครองธุรกิจการศึกษาไทย เพราะแม้ว่าในทางกฎหมายจะเข้ามาถือหุ้นไม่เกิน 49% แต่ในข้อเท็จจริงก็มีการถือหุ้นทางอ้อมเข้ามาคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และดีลของแสตมฟอร์ดก็ถือว่าเซอร์ไพรส์วงการ เพราะสะท้อนว่าแม้แต่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงยังไม่รอด และมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยในไทยจะถูกซื้อไปเรื่อย ๆ ซึ่งนักวิชาการหลายคนก็มองว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจการศึกษาไทยกลับสู่จุดสมดุลได้อย่างไร
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ที่มีมหาวิทยาลัยเอกชนเป็นสมาชิกกว่า 40 แห่ง รวมไปจนถึงเชิญตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคง ที่สามารถ “ตัดสินใจ” ได้ เข้าร่วมประชุมหารือ กรณีที่นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมถึงประเด็นที่นักศึกษาชาวจีนเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก เพื่อหาแนวทางดำเนินการจากกรณีดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ตั้ง “ชุดพิเศษ” ตรวจเข้ม
“ในการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์ภาพรวมของธุรกิจการศึกษา กรณีจำนวนนักศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และรายงานถึงข้อกังวลที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย จากคุณภาพของหลักสูตร ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของอาจารย์ผู้สอน รวมถึงประเด็นปัญหากฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการศึกษาไทยในปัจจุบัน ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้การกำกับดูแลไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะกรณีที่ปัจจุบันมีทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการ”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายหลังจากการหารือนัดแรกได้ข้อสรุปเบื้องต้นเพียงว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯจะจัดตั้ง “คณะกรรมการชุดพิเศษ” เพื่อกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยเอกชน ที่สำคัญคือการให้หน่วยงานของภาครัฐเข้าไปตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพได้ด้วย
“ถือเป็นเรื่องใหม่ของวงการศึกษาไทย ซึ่งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เข้าร่วมหารือก็ยังไม่รู้ว่าบทบาทของแต่ละส่วนต้องทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้จะมีการหารืออีกครั้ง เพื่อสรุปการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะมีทิศทางอย่างไร ซึ่งบางเรื่องก็ค่อนข้าง sensitive ทั้งในแง่ของความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ”
โดยปัจจุบันภาพรวมของจำนวนนักศึกษาจีนในไทยอยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าคน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนรวมกว่า 40,000 คน ทั้งนี้ จากข้อมูลนักศึกษาเข้าใหม่ ปีการศึกษา 2561 (ภาคเรียนที่ 1) พบว่า “นักศึกษาจีน” ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,462 คน แบ่งเป็น นักศึกษาระดับปริญญาตรี 1,790 คน ปริญญาโท 607 คน และปริญญาเอก 65 คน
ยกเครื่องรับทัพ น.ศ.จีน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้ามาร่วมทุนของเอกชนจีนในสถาบันการศึกษาเอกชนไทย เป็นพฤติกรรมปกติทางธุรกิจ แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งกระทรวงและหน่วยราชการไทยให้ความสนใจติดตามดูแล โดยกระทรวงจะกำกับดูแลให้การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาต่างชาติเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และจะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ดูแลควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งเรื่องแอบแฝงตั้งธุรกิจในไทย และการทำงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักศึกษาจีนศึกษาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 9,000 กว่าคน ทั้งในโครงการแลกเปลี่ยนและหลักสูตรปริญญา ซึ่งผู้ปกครองและนักศึกษาจีนให้ความสนใจสถาบันอุดมศึกษาไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
“สถิติข้อมูลการอุดมศึกษาจีนเป็นสิ่งซึ่งเราควรให้ความสนใจ ปัจจุบันจีนมีสถาบันระดับอุดมศึกษากว่า 2,800 แห่ง รับนักศึกษาใหม่ประมาณ 7 ล้านคนต่อปี ผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานได้ปีละ 7.5 ล้านคน ขณะที่จีนมีนักศึกษาต่างชาติในประเทศรวมกว่า 7 แสนคน มากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก และยังมีนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกกว่า 2 ล้านคน ที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในจีนไม่ได้ โดยมีนักศึกษาจีนเดินทางศึกษาในต่างประเทศกว่า 6 แสนคน เห็นได้ชัดว่ายังมีนักศึกษาจีนที่ต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศอีกมาก ประเทศจีนจึงเป็นทั้งจุดหมายปลายทางการศึกษาของนักศึกษาต่างชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศส่งออกนักศึกษาที่สำคัญ”
นายสุวิทย์ กล่าวว่า กระทรวง อว.จะพัฒนาระบบการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยให้เป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น ในด้านการรับนักศึกษาต่างชาติจากจีน โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสังคมไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/education/news-373870
จำนวนผู้อ่าน: 2197
24 กันยายน 2019