การชำระเงินโดยมือถือ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์อันทันสมัย มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับโลกไร้พรมแดน หลายอย่างทำให้ความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในตลาดเกิดขึ้นเสมอ รวมทั้งความสามารถของทางการที่เป็นผู้ควบคุมดูแลกฎระเบียบทางการเงิน สำหรับธุรกรรมการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศหรือระหว่างประเทศ การหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้จากการซื้อขายสินค้าและบริการที่ผ่านการหักบัญชีการเงินทั้ง 2 ข้าง แทนการใช้เงินสด

ในโลกสมัยใหม่ที่เกิดธุรกรรมการหักบัญชีชำระหนี้ระหว่างสมาชิก ข้างหนึ่งอาจจะอยู่ในประเทศไทย และอีกข้างหนึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทย เช่นกรณีใช้แอปผ่านมือถือที่สามารถเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคาร เพียงแค่เปิดกล้องส่องรหัสภาพ หรือคิวอาร์โค้ด QR code เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างทั้งสองข้างให้ตรงกัน ก็สามารถซื้อสินค้าหรือบริการโดยการหักเงินในบัญชีผ่านโทรศัพท์มือถือได้ นอกเหนือจากการหักบัญชีด้วยระบบพร้อมเพย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังมีความภูมิใจ เพราะถ้าผู้คนส่วนใหญ่เปิดบัญชีเช่นว่านี้กับธนาคารที่ให้บริการชนิดนี้ ความจำเป็นที่จะต้องใช้ธนบัตรก็จะลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประหยัดกระดาษและค่าพิมพ์ธนบัตรลงไปได้เป็นจำนวนมาก

ขณะที่ทางการไทยยังลังเลในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของไทยสามารถออกคิวอาร์โค้ด
ให้กับลูกค้าของไทยได้นั้น บริษัทหลายบริษัทในประเทศจีนได้มีบริการการรับชำระเงินที่เรียกว่า อาลีเพย์ หรือ Alipay สามารถเป็นสมาชิกเพื่อรับเลขรหัส แล้วใช้มือถือเปิดกล้องส่องภาพหรือคิวอาร์โค้ดที่ปิดแสดงไว้ในตัวสินค้า
ก็สามารถรับสินค้าหรือบริการโดยการหักเงินจากบัญชีธนาคารได้เลย แทนที่จะต้องใช้บัตรไปกดรหัสกับเครื่องเอทีเอ็มหรือเครื่องเบิกเงินหรือโอนเงินอัตโนมัติ ต่อไปนอกจากการใช้ธนบัตรจะลดลงอย่างมากแล้ว อาจจะถึงขั้นยกเลิกการใช้ธนบัตรเลยก็ได้ เช่น ที่ประเทศสวีเดนและประเทศสแกนดิเนเวียอื่น ๆ

ในขณะที่อาลีเพย์หรือ Alipay สามารถสแกนชำระเงินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์กลางอยู่ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศ หรือร้านค้าปลีกอื่น ๆ ในต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทั่วไป ไม่ต้องขออนุญาตหรือการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด เขาก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีสถาบันการเงินของไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ไม่อาจจะทำได้ จึงเกิดความลักลั่น

ในการแข่งขันบริการทางการเงิน ขณะเดียวกันทางกรมสรรพากรก็ไม่สามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะอาลีเพย์ก็ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางกรมสรรพากรก็กำลังหาทางอุดช่องโหว่เช่นว่านี้อยู่ แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใดก็ต้องคอยดูต่อไป หากไม่สามารถอุดช่องโหว่ในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปกติผู้ขายต้องหักภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าการขายสินค้าและบริการนำส่งสรรพากรทุกเดือน แต่การซื้อขายผ่านทางอาลีเพย์ยังไม่มีกฎระเบียบวิธีปฏิบัติและการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การขยายตัวของ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ผ่านทางโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า บิตคอยน์ หรือ bitcoins ที่ยังคงขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้บิตคอยน์มีมูลค่ากว่า 6,136.20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 204,090.18 บาท ในเวลา 15.21 น. ของวันที่ 30 ตุลาคม 2560 สำหรับการขยายตัวของการซื้อขายและราคาของบิตคอยน์นั้น

น่าจะมีอันตรายมากกว่าการซื้อขายสินค้าผ่านตลาดการเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างอาลีเพย์ ที่รัฐบาลจะไม่ได้ภาษีมูลค่าเพิ่มและธนาคารไม่ได้ค่าธรรมเนียมการชำระเงินหรือการโอนเงิน เมื่อธุรกรรมเช่นว่าทั้งค่าธรรมเนียมในการโอนเงินและการชำระเงิน ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของธนาคารพาณิชย์นอกเหนือจากการค้ำประกันต่าง ๆ ก็จะลดลง นอกเหนือไปจากการระดมทุนผ่านทางตลาดทุนมีมากขึ้น ทดแทนการกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารพาณิชย์

แต่การลงทุนซื้อเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างบิตคอยน์ เป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรคล้าย ๆ การลงทุนซื้อแชร์ อันเป็นการฉ้อโกงประชาชนเช่นเดียวกับการซื้อแชร์แม่ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน เมื่อราคาบิตคอยน์ซึ่งเริ่มต้นด้วยราคา 1 ดอลลาร์ ซื้อขายกันไปมาราคาพุ่งสูงขึ้นจนถึงกว่า 6,000 เหรียญสหรัฐหรือ 2 แสนกว่าบาท ย่อมเป็นของธรรมดาที่วันหนึ่งก็จะถึงจุดสูงสุด และเมื่อผู้คนที่เกี่ยวข้องคิดว่าเป็นราคาสูงสุดแล้ว ทุกคนก็จะแย่งกันเทขาย ถึงตอนนั้นก็อาจจะมีแต่คนเสนอขายแต่ไม่มีคนรับซื้อ หรือมีคนรับซื้อน้อยกว่าคนขาย ราคาของบิตคอยน์ก็จะร่วงลงอย่างรวดเร็ว ขาขึ้นเหมือนขึ้นบันได แต่ขาลงอาจจะเหมือนลงลิฟต์หรือกระโดดลงทางหน้าต่าง

การที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการซื้อขายบิตคอยน์ในประเทศจีน น่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยเป็นอย่างดี เพราะถ้าตลาดจีนหยุดซื้อขายเพราะผิดกฎหมาย ก็หมายความว่าความต้องการซื้อบิตคอยน์ส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นส่วนมากก็ได้ไม่มีใครทราบได้หายไปจากตลาด ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เพียงแต่รอสัญญาณว่าผู้ถือบิตคอยน์ในตลาดจีนจะทุ่มขายออกมาเมื่อใด หรือแม้แต่จะมีข่าวลือที่อัปมงคลเกิดขึ้นเมื่อใดจนเกิดความแตกตื่น ก็จะมีการเทขายออกมา

ดังนั้นการที่ทางการจีนออกกฎหมายห้ามการซื้อขายบิตคอยน์จึงเป็นมาตรการที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะอย่างไรเสียในอนาคตก็จะเกิดปรากฏการณ์ในทางตรงกันข้ามกับช่วงขาขึ้นซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ราคาบิตคอยน์ได้ถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 6,000 เท่าแล้ว ก็เพียงแต่รอคอยว่าฟองสบู่บิตคอยน์จะระเบิดหรือจะแตกเมื่อใด

สำหรับประเทศไทยเรา เนื่องจากเราไม่ได้ห้ามการซื้อขายเสียตั้งแต่ต้น ดังนั้น เราจึงไม่มีข้อมูลจำนวนบิตคอยน์
ที่ถืออยู่ในมือคนไทยว่ามีอยู่เท่าใด ถ้าเกิดกรณีฟองสบู่บิตคอยน์แตก จำนวนเงินที่ผู้ถือบิตคอยน์จะขาดทุนมีมากน้อยเพียงใด และจะกระทบต่อตลาดเงินตราต่างประเทศเพียงใด จะกระทบค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเท่าใด และอาจจะเกิดวิกฤตการณ์การไหลออกของเงินตราต่างประเทศ จนอาจจะกระทบทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้

ถ้าธนาคารพยายามพยุงค่าเงินบาทเช่นเดียวกับกรณีเกิดวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ก็ได้ แต่ที่ยังอุ่นใจก็เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินยังเกินดุลอยู่ ขณะเดียวกันฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยังเกินดุลอยู่ การโจมตีค่าเงินบาทโดยกองทุนตรึงมูลค่าหรือ Hedge Funds อย่างปี 2540 ก็คงจะไม่เกิด เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยมีประสบการณ์แล้ว คงฉลาดพอที่จะป้องกันตัวเองได้

แม้ว่าขณะนี้การดำเนินนโยบายการเงินหรือนโยบายดอกเบี้ยที่ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาหากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องขาดทุนจากการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท โดยการเอาเงินบาทออกมาซื้อดอลลาร์เก็บ แล้วออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินกลับไปด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำเงินทุนสำรองที่เป็นเงินดอลลาร์ไปซื้อพันธบัตรดอกเบี้ยถูก ๆ ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้งบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงตัวเลขขาดทุนทุกไตรมาส แต่ทำกำไรให้กับกองทุนในต่างประเทศ ที่ทำการหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินบาทและดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ ที่เรียกกันว่า arbitrage นั่นเอง

การที่เงินจะไหลเข้าหรือไหลออกสุทธิ ย่อมเกิดจากมีส่วนต่างจากผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยระหว่างเงินตราต่างประเทศกับเงินบาท ความคล่องตัวและต้นทุนค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการโอนเงินหรือการชำระเงิน การที่การจ่ายเงินผ่านระบบ Alipay ของจีน ขยายตัวผ่านเครือข่ายของร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก ก็คงจะทำอะไรมากไม่ได้ นอกเสียจากทางการจะปลดปล่อยให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ของเรามีเสรีภาพในการเสนอบริการทำนองเดียวกันกับอาลีเพย์ เพื่อจะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาด เพื่อจะได้แบ่งค่าธรรมเนียมที่อาลีเพย์ได้รับอย่างไม่มีคู่แข่งมาเป็นของสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ไทยบ้าง เพราะการเปิดระบบคิวอาร์โค้ดให้สถาบันการเงินของเราทำได้ น่าจะเป็นทางหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของสถาบันการเงินด้วย แทนที่จะมุ่งควบคุมแต่ในสิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างเดียว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  : prachachat.net


จำนวนผู้อ่าน: 2445

06 พฤศจิกายน 2017