ส่งออกทุเรียนพุ่ง4หมื่นล้าน สหรัฐฮิต”หมอนทอง-พวงมณี”

ตลาดทุเรียนส่งออก 40,000 ล้านบาท “แรงยังดีไม่มีแผ่ว” แม้ถูกสหรัฐตัด GSP แต่ขยายตัวต่อเนื่อง เหตุรสชาติไม่มีใครสู้ได้ โดยเฉพาะ “หมอนทอง-พวงมณี” มาแรงทิ้งห่าง “มูซังคิง” ทุเรียนมาเลเซียที่มีราคาแพงกว่าไทย และยังส่งออกเป็นทุเรียนสดแบบไทยไม่ได้ ด้านแบงก์ชาติแนะอนาคตต้องเร่งขยายตลาดไปอินเดีย เลิกพึ่งพาจีนตลาดเดียว

แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และจีน จะพัฒนาพันธุ์ทุเรียนและเริ่มปลูกเชิงพาณิชย์เพื่อทำการส่งออก แต่การส่งออกทุเรียนสด (95% ของการส่งออกทั้งหมด) ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ล่าสุด ม.ค.-ส.ค. 2562 ไทยส่งออกทุเรียนสด 40,920 ล้านบาท เพิ่ม 54.52%โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสูงที่สุด 57.37%มูลค่า 23,477 ล้านบาท (เพิ่ม 92.79%)รองลงมาคือ เวียดนาม 10,211.9 ล้านบาท(20.74%), ฮ่องกง 6,341.6 ล้านบาท (28.25%), ไต้หวัน 377.8 ล้านบาท (-6.19%) และสหรัฐ 168.8 ล้านบาท (55.53%) เฉพาะตลาดสหรัฐ แม้ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ไป ตั้งแต่ พ.ย. 2561 แต่การส่งออกยังเติบโต 55.53% ส่วนทุเรียนแช่เย็นแช่แข็งซึ่งคิดเป็น 5% ของการส่งออกก็ยังโต0.73% โดย 83% การส่งออกไปจีน 2,733 ล้านบาท รองลงมา สหรัฐ 305.9 ล้านบาท (12.89%), ออสเตรเลีย 49.1 ล้านบาท (-46.41%), แคนาดา 42.4 ล้านบาท (-61.26%) และฮ่องกง 26.9 ล้านบาท (-5.68%)

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำลอสแองเจลิส (แอลเอ) กล่าวว่าทุเรียนไทยมีจุดแข็งด้านรสชาติทำให้การส่งออกทุเรียนไทยไปยังตลาดสหรัฐช่วง 7 เดือนแรกยังขยายตัว โดย”หมอนทอง” และน้องใหม่อย่าง “พวงมณี”ได้รับความนิยม ถ้าเทียบกับทุเรียนคู่แข่งจากมาเลเซีย อย่าง “มูซังคิง” ยังมีขนาดเล็ก และราคาสูงกว่า

ส่วนโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) โครงการปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นั้นฝ่ายไทยเตรียมขอต่ออายุ GSP ซึ่งจะครอบคลุมถึงทุเรียนด้วย โดยผลักดันร่วมกับกลุ่ม GSP Aliance ซึ่งเป็นเอกชนผู้นำเข้ารายใหญ่ ๆ ของสหรัฐ

นางสาวพัดชา วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียกล่าวว่า มาเลเซียตั้งเป้าจะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนเป็นอันดับหนึ่ง เบื้องต้น จีนได้ “ปลดล็อก” ให้มาเลเซียส่งออกทุเรียนสายพันธุ์ “มูซังคิง(Musang King)” หรือทุเรียนสายพันธุ์ D24 และ D197 ในรูปแบบแช่แข็งเท่านั้น ยังส่งออกทุเรียนสดไม่ได้ และกำหนดให้ต้องมีมาตรฐานการผลิตเทียบเท่ากับผลผลิตจากประเทศไทยทั้งในส่วนของสวนและโรงงาน

“ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนได้ทั้งแบบสดแช่เย็น แช่แข็ง จึงต้องรักษาจุดแข็งทางด้านรสชาติไว้ จากผลผลิตทุเรียนไทย 601,884 ตัน/ปี เราส่งออกปริมาณหลายแสนตัน ส่วนมาเลเซียส่งออกไม่มากนัก ต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน”

ในปี 2559 มาเลเซียส่งออกทุเรียน17,754 ตัน 18.1 ล้านเหรียญ ตลาดหลักอยู่ที่สิงคโปร์ (45%) ตามด้วย จีน 25%, ฮ่องกง 13%, สหรัฐ 6% และออสเตรเลีย 4% ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมาก คือรัฐปะหัง, ยะโฮร์, กลันตัน, เปรัก, ซาบาห์ และซาราวัก โดยปลูกพันธุ์ มูซังคิงธนาคารประเทศไทย (ธปท.) ทำรายงานเกี่ยวกับทุเรียนไทยพบว่าทุเรียนไทยมีตลาดรองรับต่อเนื่องสามารถขยายไปได้อีกหลายมณฑลของจีน คู่แข่งยังไม่ได้สิทธิส่งออกทุเรียนสดไปจีนเหมือนกับไทย ทุเรียนหมอนทองของเวียดนามก็ยังสู้ไทยไม่ได้ ส่วนทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียมีราคาสูงกว่าไทย 3-4 เท่า ทำให้มีตลาดจำกัด แต่ไทยต้องเร่งขยายตลาดทุเรียนออกไปยังประเทศอื่นมากกว่าการพึ่งพาจีนตลาดเดียว โดยตลาดที่มีศักยภาพ ได้แก่ อินเดีย

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่..ทุเรียนไทย จะรุ่งหรือจะร่วง? 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-375009


จำนวนผู้อ่าน: 2167

27 กันยายน 2019