“สมคิด” อุ้มมนุษย์เงินเดือน ดัน “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ปั๊มศก.

“สมคิด” ถอดสลักปัญหาเศรษฐกิจ เล็งต่อมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 หลังผลตอบรับเกินคาด ชูธงยกระดับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้คลุมถึง “มนุษย์เงินเดือน” แถมเพิ่มสิทธิประกันอุบัติเหตุและประกันโรคร้ายที่ “30 บาทรักษาทุกโรค” คลุมไม่ถึง ดันแผนกระตุ้นจ้างงานผู้สูงอายุ เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเป็น 3-4 เท่า จี้เอกชนเร่งลงทุนช่วงบาทแข็ง สั่งขุนคลังต่อสาย “เจบิก” แจงปมไม่ค้ำประกันเงินกู้ไฮสปีด 3 สนามบิน ยันเคลียร์ ซี.พี.ประเด็นส่งมอบพื้นที่เรียบร้อย มั่นใจได้เซ็นสัญญาหวังจุดพลุความเชื่อมั่นต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมาได้มีมติคงดอกเบี้ย 1.5% พร้อมปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2562 ว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% ทั้งที่ได้รวมผลพวงจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” แล้ว จากเดือน มิ.ย.คาดว่าจะเติบโตระดับ 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศซบเซาลงกว่าที่คาด

ระดมอัดฉีดมาตรการกระตุ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ที่ความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ ถ้าช่วยกันก็จะไปได้ดี ก็เป็นข้อจำกัดการทำงานภายใต้รัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็พยายามกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศผ่านโครงการและมาตรการต่าง ๆอย่างโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่เปิดให้ประชาชนมาลงทะเบียนรับเงิน 1,000 บาทก็เป็นการจูงใจให้คนออกมาเที่ยว ดึงคนไปเที่ยวเมืองรอง ไปจับจ่ายใช้สอยสร้างมัลติพลายเออร์ ไม่ใช่แค่ให้คนเที่ยวแต่เป็นการกระตุ้นให้เงินหมุนเวียน

“เชื่อว่าคนไปเที่ยว ไม่ใช้เงินแค่ 1,000 บาทแน่นอน แต่ 1,000 บาทที่รัฐให้แค่ดึงคนออกจากบ้านไปเที่ยวออกไปจับจ่าย ซึ่งการตอบรับดีมาก แต่ละวันที่เปิดลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนภายในไม่กี่ชั่วโมง” รองนายกฯกล่าวและว่า

ส่วนที่จะมีการขยายมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ออกไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงิน ซึ่งถ้าจะทำต่อต้องใช้งบประมาณปี 2563 เพราะตอนนี้งบประมาณ 2562 ปิดหมดแล้วซึ่งในมุมมองก็อยากทำให้ต่อเนื่อง เพราะเป็นฤดูท่องเที่ยวซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ดีขึ้นแต่ในทางปฏิบัติก็ต้องขึ้นอยู่ที่เงินงบประมาณ

ขณะที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมีประมาณ 1.5 แสนร้านค้า เป้าหมายต้องการให้ไปสู่ร้านค้าย่อยมากขึ้น เพราะร้านค้าถ้าไม่เข้าร่วมก็จะตกขบวน และเสียโอกาส เพราะต่อไปการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะส่งลงไปถึงประชาชนก็จะผ่านช่องทางนี้ ถ้าร้านค้าไม่เข้าร่วมก็จะเสียโอกาสที่จะได้เม็ดเงินที่รัฐบาลใส่ลงไป ขณะเดียวกันก็เป็นการดึงร้านค้าทั้งหลายเข้าสู่ระบบภาษี

ช่วยมนุษย์เงินเดือน-รายได้ต่ำ

นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ได้สั่งให้กระทรวงการคลังไปศึกษาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่รายได้ต่ำซึ่งไม่เคยได้อะไร ว่าจะช่วยอะไรได้ เพราะการช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ดังนั้นตอนนี้จึงให้ไปหาแนวทางที่จะให้กลุ่มมนุษย์เงินเดือนระดับล่างที่มีภาระ เช่น มีลูก จะทำอย่างไรให้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน ก็อาจจะต้องหาวิธีสำรวจเหมือนตอนทำบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย

“คลังต้องเร่งศึกษา เพราะถ้าเรามีข้อมูล เช่น มนุษย์เงินเดือนที่เพิ่งตั้งตัว มีภาระ เราก็อยากช่วย แต่ต้องมีข้อมูล อยู่ที่ไหน มีรายได้ไม่เกินนี้จริงหรือเปล่า โดยปีหน้าจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการฯใหม่ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้ได้ข้อมูลที่แม่นมากขึ้นเรื่อย ๆ คัดกรองคนที่เข้ามา เพื่อป้องกันการสูญเสีย ซึ่งอาจจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ เพิ่มเติม” รองนายกฯสมคิดกล่าว

เพิ่มสิทธิประกันสุขภาพ/อุบัติเหตุ

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯมากขึ้นโดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปศึกษาการทำประกันสุขภาพ โดยให้ครอบคลุมโรคร้ายแรงที่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ครอบคลุมถึง หรืออย่างโรคไต ที่เป็นแล้วมีค่าใช้จ่ายมหาศาล รวมถึงการทำประกันอุบัติเหตุก็ทำไมยาก แต่เป็นการสร้างหลักประกันขั้นพื้นฐานให้กับผู้มีรายได้น้อย

นายสมคิดกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันในภาวะที่ประเทศมีประชากรสูงวัยมากขึ้น แต่ปัจจุบันพบว่าการจ้างงานผู้สูงอายุยังไม่มาก ซึ่งก็ต้องไปดูว่าทำไมบริษัทต่าง ๆ ถึงไม่จ้างงานผู้สูงอายุ เพราะบางอาชีพก็มีประโยชน์มาก ดังนั้นก็มีการหารือกันว่าจะกระตุ้นการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยให้บริษัทสามารถหักลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่าตัว จากปัจจุบันให้ 2 เท่า

ต่อสายเจบิกเคลียร์ปมไฮสปีด

นายสมคิดกล่าวว่า สำหรับในส่วนของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ก็จะต้องผลักดันให้โครงการเดินหน้าไปตามแผน โดยเฉพาะโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

“กรณีโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เอกชนจะไม่เซ็นสัญญา เราก็ช่วยเต็มที่ ปัญหาเงื่อนไขการเงินก็ไม่น่าติดอะไรแล้ว เพราะกรณีที่ต่างประเทศต้องการให้รัฐค้ำประกันเงินกู้นั้นคงทำไม่ได้ เพราะโครงการเซฟอยู่แล้ว เป็นโครงการของรัฐและจ่ายเงินผ่านอีอีซี ซึ่งได้มอบหมายให้รัฐมนตรีคลัง (นายอุตตม สาวนายน) ต่อสายทำความเข้าใจกับทางเจบิกแล้ว ไม่น่ามีปัญหาอะไร” นายสมคิดกล่าวและว่า

ส่วนเรื่องปัญหาการส่งมอบพื้นที่ตามเส้นทางไฮปีดซึ่งทางกลุ่ม ซี.พี.ต้องการให้ส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดก่อนนั้น การทำโครงการขนาดใหญ่แบบนี้คงทำไม่ได้ ซึ่งก็ได้มีการเคลียร์กับทางผู้บริหาร ซี.พี.แล้วว่าจะส่งมอบโดยแบ่งเป็นท่อน ๆ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ก็เห็นด้วยก็น่าจะเริ่มได้ ซึ่งก็เข้าใจว่าทางกลุ่ม ซี.พี.ประมูลได้ในราคาต่ำ กำไรน้อย ก็ต้องมีการเจรจาต่อรองเต็มที่

“อย่างไรก็ตามถ้าโครงการไฮสปีดเซ็นไม่ได้ไม่ใช่ว่าซี.พี.เสียหาย แต่ประเทศที่เสียหาย แต่ผมมองโลกในแง่ดี หวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในกำหนด”

เข็นโครงการแจ้งเกิดอีอีซี

รองนายกฯกล่าวว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดเหมือนปั้นดินให้เป็นดาว ต่างประเทศก็เริ่มยอมรับ ดังนั้นต้องพยายามทำดินก้อนนี้ให้เป็นดาวให้ได้ ถ้าโครงการต่าง ๆ เดินได้ก็ทำให้เกิดความมั่นใจ ความเป็นจริงก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งตอนนี้โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เกิดแล้ว ส่วนโครงการไฮสปีด 3 สนามบินก็รอเซ็นสัญญา รวมถึงโครงการสนามบินอู่ตะเภา ถ้าเดินหน้าตามแผนก็จะสามารถสร้างความมั่นใจได้

“ด้วยระบบด้วยกลไกการเมืองพรรคร่วมแบบนี้มันยาก ต้องยอมรับว่าเราเจอสภาพขรุขระ ก็หวังว่าเมื่อทำงานด้วยกันสักพักจะไหลลื่น”

กระทุ้งเอกชนลงทุน

นายสมคิดเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ไปพูดที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่ากรณีเรื่องเงินบาทแข็งค่าอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเอกชนมีการลงทุนน้อยไป ดังนั้นก็ต้องช่วยเร่งลงทุนเครื่องมือเครื่องจักร ปรับปรุงเทคโนโลยี เร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับในอนาคต

“เอกชนอยากให้บาทอ่อน แต่ไม่ลงทุน แล้วจะให้ ธปท.แทรกแซงแต่ละทีก็ต้องใช้ทุนสำรอง ขณะที่ดอลลาร์ออ่อนลงอีก อีกอย่างกระทรวงคลังก็สั่ง ธปท.ไม่ได้ ฉะนั้นสถานการณ์อย่างนี้เอกชนต้องมีความมั่นใจในตัวเองและลงทุนก่อน ถ้าย้อนไป 20 ปีที่แล้ว ค่าเงินบาทอยู่ที่ 25 บาท/ดอลลาร์ พอเกิดต้มยำกุ้งพุ่งไป 50 บาท/ดอลลาร์ สภาพเราตอนนี้ดีกว่าปี 2540 มาก จะอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร หรือคุณจะรอให้เงินบาทแข็ง 25 บาทแล้วค่อยลงทุน”

ตอนนี้ก็พยายามผลักดันผ่านช่องทางสภาอุตฯอย่างเต็มที่ เพราะในนี้ซึ่งมีตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมทุกจังหวัด ซึ่งต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิด จะมานั่งรอรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ และในภาวะวิกฤต เอกชนที่คิดว่าต้องกำเงินสดไว้นั้นไม่ถูกต้องแล้ว ต้องใช้จังหวะบาทแข็งลงทุนเทคโนโลยี ยกระดับศักยภาพเพื่อลดต้นทุนในอนาคต

เล็งเพิ่ม “ชิมช้อปใช้” หมื่น ล.

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านแคมเปญ “ชิม ช้อป ใช้” ได้รับความสนใจจากประขาชนอย่างท่วมท้น จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าหากครบตามกำหนดเวลา และเป้าหมาย10 ล้านคน 10 วันแล้ว หากยังมีความต้องการเข้าร่วมเพิ่มก็จะขยายเวลาและจำนวนผู้เข้าร่วมไปอีก 1 เท่า คืออีก 10 ล้านคน โดยหากมีการขยายเวลาจำนวนผู้เข้าร่วมก็อาจพิจารณาใช้เงินจากงบประมาณรายจ่าย ในส่วนงบกลาง ปี 2563

ส่วนเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งตามกฎหมายจะใช้งบประมาณปีละ 46,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลกำลังศึกษาวิธีการเพิ่มประกันอุบัติเหตุและสวัสดิการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงเพิ่มเติมคาดว่าจะเพิ่มเป็นเฟส โดยเฟสแรกคงใช้วงเงินไม่มาก ก็จะพิจารณาจากงบกลางเช่นกัน

นายอุตตมกล่าวว่า หลังจากนี้ก็อาจมีมาตรการดูแลด้านการท่องเที่ยวออกมาต่อเนื่อง โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะมีโครงการมาเชื่อมต่อเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว ทั้งนี้การจะออกมาตรการเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยกระทรวงการคลังก็มีการประเมินสถานการณ์อยู่ต่อเนื่องทุกสัปดาห์

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม นายอุตตมกล่าวว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเดือนละ 230 บาทต่อครัวเรือน ตั้งแต่ ต.ค. 2562-ก.ย. 2563 เป็นเวลา 11 เดือน 2.ช่วยเหลือค่าน้ำประปาเดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือนเป็นเวลา 11 เดือนเช่นเดียวกัน

และ 3.คืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการในอัตรา 5% ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562-ก.ย. 2563 โดยมาตรการเหล่านี้จะครอบคลุมผู้ถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน นอกจากนี้กระทรวงพลังงานและ บมจ. ปตท.ยังมีมาตรการลดภาระค่าก๊าซหุงต้ม ครัวเรือนละ 100 บาท ในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการจำนวน 8.8 หมื่นครัวเรือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562

ชงคุ้มครองอุบัติเหตุ 1 แสน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงานคปภ.ได้นำเสนอแผนประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) เพื่อสนับสนุนเพิ่มเข้าไปในบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย(บัตรคนจน) โดยเบื้องต้นได้นำเสนอแผนด้วยอัตราเบี้ยประกันภัยรายย่อยเพียงแค่ 99 บาทต่อปี เฉลี่ยแค่คนละ 8.25 บาทต่อเดือน ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตด้วยทุนประกันภัยที่ 1 แสนบาท ซึ่งจะเริ่มเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันสำนักงาน คปภ.ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนประกันสุขภาพ โดยพิจารณาในกรณีสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ยังไม่ครอบคลุม

“คปภ.ได้ยื่นข้อเสนอในส่วนที่เป็นตัวผลิตภัณฑ์ไป แต่ในส่วนงบประมาณที่จะหนุนด้วยงบราว ๆ 700-800 ล้านบาทนั้น ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาล ซึ่งหากมองว่าใช้งบประมาณเยอะไป ก็สามารถปรับลดทุนความคุ้มครองเหลือแค่ 5 หมื่นบาทเบี้ยก็จะลดลงมาอีกได้” นายสุทธิพลกล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-375935


จำนวนผู้อ่าน: 2082

01 ตุลาคม 2019