คณะกรรมการหอการค้าไทย เข้าพบ รมว.ท่องเที่ยวฯ ร่วมผลักดันการท่องเที่ยวไทย พร้อมขับเคลื่อนโครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน สนับสนุนโครงการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (EEC) โครงการทัวร์ริมโขง และพัฒนาท่องเที่ยวรองรับผู้สูงอายุ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว EEC เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) เพื่อหารือความร่วมมือและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจ
โดยมีข้อเสนอประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) Digital Tourism Platform ขอรับการสนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ของกระทรวงและหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวง เพื่อให้ Application “TAGTHAI” หรือ “ทักทาย” เป็น Application ที่เป็นทางการ และเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
ในด้านการพัฒนา Application “TAGTHAI” ที่จะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ประเทศนั้น ทางกระทรวงเห็นว่าจะช่วยด้านการท่องเที่ยวได้มาก และขอให้เร่งรัดการนำ Application มาใช้งานโดยขอให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในปี 2563
2) Downtown VAT Refund หอการค้าไทยขอขอบคุณกระทรวงฯ ที่ได้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งจุดรับคืนภาษีในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นแบบถาวร นอกจากนี้ ยังได้เสนอเพิ่มเติม โดยขอให้มีการทำ VAT Refund ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งตรงกับแนวทางของกระทรวงฯ และขอให้ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มจุดในการดำเนินการ VAT Refund จากเดิมที่กำหนดให้เพียง 5 จุด รวมทั้ง ขอให้ช่วยผลักดัน เรื่องการสำแดงสินค้าของนักท่องเที่ยวต่อเจ้าหน้าที่ ที่กำหนดโดยกรมสรรพากร โดยให้สำแดงสินค้าเฉพาะยอดที่ซื้อสินค้าเกิน 8,000 บาท ซึ่งจะอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
3) การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้มีการปรับปรุง พรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อาทิ พิจารณาออกประกาศปรับปรุงระเบียบวิธีการปฏิบัติ เรื่อง การแจ้งที่พักอาศัยชั่วคราวของคนต่างด้าว จัดทำระบบ Application บนมือถือ Smart Phone เพื่อให้ผู้ให้สถานที่พักอาศัยสามารถกรอกข้อมูลการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าวได้โดยสะดวก
รวมทั้ง เร่งรัดแก้ไขระบบออนไลน์ ของการแจ้งรายงานตัวให้สามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้จริงทั่วประเทศ และขอให้ยกเลิกการบังคับใช้เอกสารตรวจคนเข้าเมือง (ตม.6) สำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้ กระทรวงฯ เห็นด้วย และแจ้งว่ากำลังพิจารณายกเลิกการรายงาน ตม.30 ตามมาตรา 37 และกำลังศึกษาวิธีเก็บข้อมูลจากแหล่งอื่นแทนเอกสาร ตม.6
4 ) สนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว ตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561-2570 ให้มีผลในทางปฏิบัติ ขอให้มีการแก้ไข ให้พื้นที่ Cruise Terminal ย้ายจากแหลมฉบังมาอยู่ที่เมืองพัทยา เพื่อเร่งผลักดันการก่อสร้างท่าเทียบเรือเล็กที่หน้าทอนเกาะสมุย เนื่องจากมีขนาดเล็กและรองรับเรือได้น้อยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว อีกทั้ง พิจารณาแนวทางยกเว้นภาษีนำเข้า (Input Tax) ร้อยละ 7 สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Super Yacht) ที่เข้ามาประกอบการในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC กลุ่มท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ บริเวณเมืองพัทยา ได้แก่ โครงการ Cruise Terminal, Pattaya on Pier และรถไฟรางเบา (Tram) เมืองพัทยา โดยทางกระทรวงฯ แจ้งว่าได้มีการศึกษาเรื่องการสร้างท่าเรือที่ราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังมะริดและตะนาวศรีได้ อย่างไรก็ดี ต้องดูความพร้อมทางฝั่งเมียนมาด้วย ในส่วนการพัฒนาพัทยา โดยเฉพาะที่แหลมบาลีฮาย หากทำได้ก็ดีเพราะเป็นจุดที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ จะต้องนำไปหารือใน ครม.เศรษฐกิจเพื่อพิจารณาต่อไป
5 )โครงการทัวร์ริมโขง ขอให้กระทรวงฯ ช่วยผลักดันการดำเนินโครงการทัวร์ริมโขงให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และร่วมพัฒนาแผนแม่บทกับภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงฯ แจ้งว่าจะจัดประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะ 2 ครั้งที่ บึงกาฬ และ นครพนม โดยเชิญชวนจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมด้วย โดยให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคม เพื่อศึกษาว่าแต่ละจังหวัดที่อยู่ริมโขงมีความต้องการพัฒนาอย่างไรบ้าง
6 )โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า หอการค้าไทยสนับสนุนโครงการ โดยขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บท และแผนพัฒนาภายใต้โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า โดยหากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือ คณะทำงาน ที่เกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าว หอการค้าไทยยินดีเข้าร่วมฯ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวขึ้น จึงขอให้มีผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
นอกจากนี้ หอการค้าไทยมีแนวคิดให้มีการเชื่อมโยงโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า โดยให้มีการ เชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคใต้ (รวม 3 ภาค ครอบคลุม 12 จังหวัด) โดยในเรื่องนี้ ทางกระทรวงฯ เห็นด้วย และมีแนวคิดที่จะพัฒนาในลักษณะกลุ่มจังหวัด โดยอยู่ระหว่างการวางแผนกิจกรรมและเรื่องราวที่น่าสนใจ ทางกระทรวงยังขอให้หอการค้าสนับสนุนให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายประเทศ เช่น ลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อให้คนไทยซื้อสินค้าในประเทศแทนต่างประเทศ
7) โครงการ 1 หอการค้า 1 ท่องเที่ยวชุมชน เป็นโครงการที่หอการค้าไทยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน จึงขอให้กระทรวงฯ สนับสนุนในการขับเคลื่อนโครงการ โดยการร่วมจัดหลักสูตรการอบรมให้ ความรู้ชุมชน โดยหอการค้าไทยได้เชิญหอการค้าญี่ปุ่น และ JETRO มาให้ความรู้เรื่องการสร้างเรื่องราวและการชูเอกลักษณ์สินค้าที่มีความโดดเด่นของท้องถิ่น ด้านการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้ง ขอให้มีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
8) การพัฒนาการท่องเที่ยวรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ขอให้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการที่มีคุณภาพที่ดีรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยขอให้มีการปรับปรุงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ และหากมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาฯ อย่างเป็นรูปธรรม หอการค้าไทย ยินดีให้ความร่วมมือเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ กระทรวงฯ ได้เริ่มดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการทำโครงการต้นแบบ โดยเริ่มที่จังหวัดเพชรบุรี (ชะอำ) เพื่อให้เอกชนเข้ามาศึกษาดูงาน และในอนาคตจะขยายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ
นายกลินท์ กล่าวว่า รมว.กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทย ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และได้ขอให้หอการค้าไทยช่วยผลักดันเรื่องต่างๆ ไปพร้อมๆ กับกระทรวงฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว และจะทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-376326
จำนวนผู้อ่าน: 2633
01 ตุลาคม 2019