กลุ่มทุนจีนบินลงภาคใต้ สำรวจสถาบันการศึกษาเอกชนหลายแห่งใน “หาดใหญ่-ภูเก็ต” หลังแห่ร่วมทุน-ไล่ซื้อกิจการสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯไปแล้วหลายแห่ง เล็งเป้าเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้านการค้า-การเงิน-การท่องเที่ยว-การศึกษาในภาคใต้ ด้านอาจารย์มหาวิทยาลัยดังเผยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งแข่งขันกันสูง เหตุนักศึกษาลดลงฮวบ บางแห่งจากหลัก 1,000 คน/ปีการศึกษา เหลือหลัก 100 คน/ปีการศึกษา ต้องเปิดรับกันหลายรอบ หวั่นจีนเข้ามากระทบหนักอีก
สืบเนื่องจากที่มีกระแสข่าวที่กลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามามีบทบาทในธุรกิจการศึกษาภายในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี 2561 ทั้งการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการเข้ามาไล่ซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยอีกหลายแห่ง ทั้งการเปิดเผยชื่อและในรูปนอมินีนั้น ล่าสุดได้เกิดกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวในหลายจังหวัดของภาคใต้
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่นักลงทุนจากประเทศจีนสนใจเข้ามาลงทุนทางการศึกษา โดยร่วมทุนกับสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งนั้น สำหรับภาคใต้มีกระแสข่าวว่า จีนเข้ามาสำรวจสถานศึกษาที่น่าลงทุน ทั้งที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ จ.ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภาคใต้ทั้งทางด้านการค้า การเงิน การท่องเที่ยว และการศึกษา แต่การลงทุนที่เป็นรูปธรรมคงยังต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ แนวโน้มสถาบันการศึกษาอุดมศึกษาจะเกิดการแข่งขันกันสูง จะส่งผลกระทบให้สถาบันการศึกษาไทยพบอุปสรรค เพราะการดำเนินนโยบายการศึกษาของไทยนั้นเดิมให้การศึกษาให้ความรู้ ไม่เน้นผลกำไร ไม่มีการแข่งขัน แต่หากจีนเข้ามาลงทุน มีเป้าหมายทางธุรกิจ ภาครัฐต้องมีมาตรการดูแล
“ต้องยอมรับว่าจีนมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม ล้ำหน้าทันสมัย ค่าธรรมเนียม ค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ราคาไม่สูง อีกทั้งจบง่าย เป็นการตอบโจทย์ รูปแบบของนักลงทุนจีน เรื่องนี้เก่ง ถนัดและเป็นมืออาชีพ ดังนั้น การลงทุนเรื่องสถาบันการศึกษาจีนมองเห็นเป็นโอกาสช่องทางหนึ่งของการลงทุน และสามารถทำการตลาดได้ เพราะจีนได้ศึกษาดูทิศทางแล้ว เมื่อลงทุนแล้วก็จะเกิดผลคุ้มค่า แต่การร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้คงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เพียงแต่มีข่าวว่าเข้ามาสำรวจเท่านั้น” ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวและว่า
สำหรับคณะสาขาวิชาที่จีนจะเปิดสอนแนวคิดของจีนจะพิจารณาจากความสนใจของประชาชน ซึ่งเทรนด์การศึกษาแต่ละปีไม่เหมือนกัน บางคณะวิชาที่สำคัญ แต่ไม่มีผู้สนใจ จะไม่ลงทุนเปิดสอน หลังจากเลือกคณะสาขาวิชาที่จะเปิดสอนแล้ว จะมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการที่เก่งและมีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือเข้ามาสอน โดยให้อัตราผลตอบแทนที่สูง
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวต่อไปว่า การที่จีนเข้ามาลงทุนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบ้าง แต่น้อยมาก โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเก่าแก่ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ จะต่างกับสถาบันศึกษาเอกชน ซึ่งขณะนี้มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ และที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการลงทุนเปิดสถาบันการศึกษากันเป็นจำนวนมาก แต่ถัดมานักศึกษา นักเรียนปริมาณลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสถาบันการศึกษาคงที่ ไม่คุ้มทุน จึงเริ่มปิดตัวลง บางแห่งเดิมมีนักเรียน นักศึกษา ประมาณ 1,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือประมาณกว่า 100 คน และสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งต้องเปิดรับสมัครนักศึกษาถึงหลายรอบ เพื่อรับเข้าศึกษาให้ตรงกับเป้าหมาย
“ปกติถ้าสถาบันการศึกษาปิดตัวลง นักลงทุนไทยคงไม่มีใครจะกล้าเข้าไปลงทุน แต่จีนกลับมองอีกมุมหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ เพราะจีนเป็นมืออาชีพ ทำอย่างมืออาชีพ ศึกษาละเอียดรอบด้าน และก็ทำเชิงรุก ผมเองพูดเป็นการส่วนตัว จากการที่ได้คลุกคลีทำงานวิจัยกับจีนมา” ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าว
ผศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า สำหรับการลงทุนการศึกษาเป็นการลงทุนต้นทุนคงที่ ต่างกับการลงทุนสินค้าเป็นต้นทุนผันแปร อย่างต้นทุนการศึกษา นักศึกษาห้องเรียนละ 30-50 คน ต้นทุนเท่าเดิมคงที่ ดังนั้นต้องเน้นปริมาณที่มากไว้ เมื่อปริมาณมาก กำไรก็จะผันแปรตามปริมาณ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-376089
จำนวนผู้อ่าน: 2831
01 ตุลาคม 2019