“กัมพล จันทวิบูลย์” แม่ทัพ SCBS ปรับโมเดลธุรกิจสู้ศึกหั่นค่าคอม

สัมภาษณ์

“ปีหน้าบริษัทเตรียมปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อรับมือการแข่งขันด้านราคาค่าคอมมิสชั่น โดยมีแผนปรับสัดส่วนรายได้จากค่าคอมฯลดลงเหลือต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ระดับ 70% และหันไปเพิ่มรายได้จากบริการอื่น ๆ” นี่เป็นภาพแผนธุรกิจปี 2563 ที่ “กัมพล จันทวิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ฉายแก่สื่อมวลชน เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยเขาบอกว่า ปีหน้าบริษัทจะขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของธุรกิจหลักทรัพย์ (SCBS New Paradigm 2020) ที่ได้ชูแนวคิด “Easy & Smart” สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้าในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เปิดบัญชีจนถึงการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่น “EASY INVEST”

ธุรกิจแข่งหั่นค่าคอมฯเดือด

“กัมพล” เล่าว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ไทยที่มี บล.อยู่ทั้งสิ้นราว 39 แห่ง กำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างรายได้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์โลก การคิดหารายได้จากวิธีเดิม ๆ จะเริ่มหายไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะรายได้ค่าคอมมิสชั่นจะเห็นชัดเจนมาก หลังจากเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บรรดาโบรกเกอร์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาลดค่าคอมมิสชั่นเป็น 0% เพื่อแข่งกับฟินเทคหน้าใหม่อย่าง “Robinhood” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทรดหุ้นในสหรัฐกับฮ่องกง โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

“โอกาสที่จะเกิดการลดค่าคอมฯเป็น 0% ในไทยคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมที่จะจ่ายค่าคอมฯเพิ่มขึ้น โดยโบรกเกอร์ต่าง ๆ จะต้องพัฒนาด้านบริการเพิ่มขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วถ้าไม่มีบริการหรือความแตกต่างที่ดีขึ้น การที่เราจะอยู่ได้โดยคงค่าคอมฯไว้อาจจะลำบาก”

เร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี

ขณะที่หลังจากการที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้จำนวนสาขาของ บล. รวมทั้งอุตสาหกรรมมีการปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มีการปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และผ่านโครงการสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ อย่างไรก็ตาม พบว่าสัดส่วนของบัญชีที่มีการลงทุนสม่ำเสมอยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ เฉลี่ยประมาณ 20% ในภาพรวมของทั้งตลาด

ส่วนที่มาของรายได้บริษัทหลักทรัพย์ยังคงมาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (brokerage business) กว่า 55% รายได้ดอกเบี้ยรับจากบัญชีมาร์จิ้น (Interests) 20% รายได้ค่าธรรมเนียม (fees) 6% รายได้บริการเทรดหุ้น (trading) 10% และรายได้อื่น ๆ 9% อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์เฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.09% จากอดีตที่อยู่ที่ 0.13%

“เมื่อ “transaction based” ไม่มีรายได้ ก็เริ่มเห็นการปรับตัวของ บล.ในต่างประเทศ ที่หันมาทำรายได้ผ่านการให้คำแนะนำ (advisory) โดยใช้หุ่นยนต์ (ROBO) เข้ามาช่วยบริการ แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ไทยยังอยู่ในยุคของอินเทอร์เน็ตโมบาย หรือเราเรียกว่ายุค Hi-Touch คือใช้คน relationship marketing ระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการ อาจจะยังไม่ได้ไปสู่ยุคของดาต้าหรือเรียกว่า Hi-Tech เหมือนในต่างประเทศที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการลงทุน หรือตอบสนองความต้องการลูกค้า แต่อย่างไรก็ดี ปีหน้าเราคาดหวังจะพาตัวเองไปสู่ Hi-Tech”

อัดงบฯ 100 ล้าน พัฒนา AI

“กัมพล” บอกว่า ปี 2563 บริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบ AI ให้มีความฉลาดยิ่งขึ้น โดยจะปรับปรุงบริการเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจของลูกค้าในการลงทุนได้ดีที่สุด หรือวางกลยุทธ์ในการซื้อขายและออมเงิน ซึ่งจะเป็นบริการที่ครบวงจรมากขึ้น

“ปัจจุบันเรามี ROBO Advisor ที่บริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติด้วย AI โดยมีแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อกองทุนได้ 17 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้า 3 ส่วน คือ 1.ซื้อกองทุนอะไร 2.ซื้อ/ขายตอนไหน และ 3.กองทุนใดที่เหมาะกับเรา นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย. 62 นี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัว ROBO Advisor ที่มาช่วยลูกค้าตัดสินใจลงทุน กระจายกว่า 8 กองทุน เลือกลงทุนได้ทั้งในหุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, ทองคำ, ตราสารหนี้ ซึ่งเริ่มต้นลงทุนเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้น”

ทั้งนี้ แผนธุรกิจระยะข้างหน้า บริษัทจะแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้าที่ชอบได้รับคำแนะนำ ทางบริษัทจะพัฒนากระบวนการในการให้คำแนะนำที่ดีขึ้น ส่วนลูกค้าที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีก็จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าลงทุนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยราวช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทจะพัฒนาระบบการลงทุนทั้งหมดให้อยู่ในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน ลูกค้าสามารถจัดพอร์ตการลงทุน โดยซื้อหุ้นต่างประเทศได้ ซึ่งจะมีโรบอตช่วยในการเลือกและปรับพอร์ตของลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระจายรายได้ส่วนอื่น ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าจะช่วยเพิ่มยอดลูกค้าใหม่ได้อีกราว 5-6 หมื่นบัญชีในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.7 แสนบัญชี

“เราต้องพยายามปรับตัว ทำอย่างไรให้เราอยู่รอดได้ ภายใต้ภาวะการแข่งขัน มันจะไม่ใช่แค่โบรกฯ อาจจะเป็น technology company อื่น ๆ ที่ต้องปรับตัวไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งจากยอดลูกค้าใหม่ที่เข้ามาในปีนี้ก็เป็นผลจากที่เราพัฒนาบริการที่ทำให้ลูกค้าลงทุนง่าย รวดเร็ว อยู่บนมือถือ” นายกัมพลกล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ธุรกิจหลักทรัพย์ และฉายภาพแผนธุรกิจปีหน้าในเบื้องต้น ซึ่งทาง SCBS จะมีแถลงอย่างชัดเจนอีกครั้งในต้นปีหน้า

ขอบคุณข้อมุลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392743


จำนวนผู้อ่าน: 2006

19 พฤศจิกายน 2019