ชิงเค้ก 3.2 ล้านล้าน งบฯ 63 วาระสาม ลด งบฯกลาง-เงินประชารัฐ-กองทัพ

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ล่าช้ากว่าปฏิทินปีงบประมาณมากว่า 4 เดือน ทำให้งบประมาณกว่า 3.2 ล้านล้านบาท “ค้างท่อ” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎร “กาปฏิทิน” พิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 8-9 มกราคม 2563 มีการ “ปรับลด” ตามมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 16,231,217,700 บาท จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น จำนวน 13,177,466,400 บาท

จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 วรรคสอง จำนวน 3,053,751,300 บาท มาตรา 5 แปรญัตติ “ขอเพิ่ม” ข้อความเป็น อาทิ การใช้ “งบฯราชการลับ” การจัดการประชุม สัมมนาและการเดินทางไปต่างประเทศ และการขอขยายระยะเวลาโครงการ-ผูกพันข้ามปี ต้องรายงาน-ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา

“มาตรา 5/1 การใช้งบฯราชการลับให้ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายรายงานการสั่งจ่ายงบฯราชการลับต่อประธานรัฐสภา ทุกเดือนผ่านนายกรัฐมนตรี หากมีงบฯราชการลับให้คืนเป็นรายได้แผ่นดิน”

“มาตรา 5/2 รัฐบาลต้องไม่เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายอื่นเป็นงบฯราชการลับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา”

“มาตรา 5/3 ในเดือนสิงหาคมและกันยายน หน่วยรับงบประมาณจะจัดประชุม สัมมนา การเดินทางไปต่างประเทศมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา”

“มาตรา 5/4 หน่วยรับงบประมาณจะทำโครงการขอขยายเวลาในการใช้งบประมาณในปีต่อไป หรือทำโครงการผูกพันงบประมาณในปีต่อไป ต้องได้ความเห็นชอบจากประธานรัฐสภา”

โดยเฉพาะมาตรา 6 งบประมาณรายจ่าย “งบฯกลาง” ที่ตั้งงบประมาณไว้ “สูงลิบ” จำนวน 518,770,918,000 บาท มีกรรมาธิการขอความเห็น-ส.ส.ขอแปรญัตติ “ปรับลดลง” จำนวนมาก อาทิ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 96,000,000,000 บาท เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง จำนวน 500,000,000 บาท และการขอแปรญัตติเพิ่มความเป็น มาตรา 6/1 รัฐบาลต้องไม่เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายงบฯกลางเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่มีผลผูกพันต่องบประมาณในปีต่อ ๆ ไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา

ขณะที่มาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 30,017,877,700 บาท ปรับลดลงเป็น 29,823,246,400 บาท โดยเฉพาะการขอสงวนความเห็น-แปรญัตติ “เงินราชการลับ” ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อาทิ เงินราชการลับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท เงินราชการลับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 50 ล้านบาท เงินราชการลับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ 232 ล้านบาทรวมถึงมาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 125,918,522,500 บาท ถูก “ขอหั่น” ทุบหม้อข้าวกองทัพ เหลือ 124,400,250,000 บาท

กองทัพบก 52,943,083,300 บาท เหลือ 52,103,193,700 บาท กองทัพเรือ 25,229,478,500 บาท เหลือ 25,065,956,200 บาท กองทัพอากาศ 29,670,466,300 บาท เหลือ 29,326,466,300 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 10,868,253,600 บาท เหลือ 10,781,960,800 บาท

สำหรับมาตรา 52 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐ ที่ “สูงขึ้น” สวนทางกับแผน “ลดกำลังคน” จากจำนวน 777,267,620,100 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 777,549,875,400 บาท โดยมีการสงวนความเห็น-แปรญัตติหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับลด ร้อยละ 50

มาตรา 53 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 202,268,635,400 บาท ที่ถูกปรับเพิ่มเป็น 204,173,895,700 บาท อาทิ ปรับลด “เงินประชารัฐ” จากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 40,000,000,000 บาท จะถูกสงวนความเห็น-แปรญัตติ “ปรับลด” กึ่งซักฟอกแบบคาบลูกคาบดอก

ทว่า “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องใช้กำลังภายใน “ดึงกลับ” คืนให้ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม หลังจากถูก “แปลงสาร” ดิสเครดิตเป็นการใช้เงิน “วิจัยข้าวต้มมัด” 8,000 ล้านบาท

ขณะที่ “งบฯอีอีซี” ที่ถูกปรับลด จาก 17,009,095,000 บาท เหลือ 16,036,514,700 บาท จะถูกชำแหละ-ตีแผ่ความล้มเหลวของโครงการ และงบฯบูรณาการพัฒนา-ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากที่ถูกหั่น จาก 3,185,556,700 บาท ลดลงเหลือ 3,018,446,600 บาท

แต่ส่วนที่ “งอก” ขึ้นมา คือ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 27,576,100 บาท เพิ่มขึ้นไว้ในส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกฯเกือบทุกกระทรวง-หน่วยงาน-จังหวัด ถูกหั่นลด-ผ่าครึ่ง เพื่อกองรวม ก่อนจัดสรร-แบ่งเค้กลงพื้นที่ทุกภาค ยกเว้น มาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ ไม่มีการแก้ไข

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407834


จำนวนผู้อ่าน: 1903

06 มกราคม 2020