จัดทัพองค์กรสู้เศรษฐกิจซบ อาชีพวิศวะระบบ-วิเคราะห์ข้อมูลมาแรง

4 กูรูส่องเทรนด์เอชอาร์ปี ภาคธุรกิจพลิกกลยุทธ์สู้เศรษฐกิจซบ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น เน้นจัดทัพบุคลากรตอบโจทย์องค์กร บริหารกำลังคนอย่างคุ้มค่า ชี้พนักงานต้องเพิ่ม 4 ทักษะสร้างความโดดเด่น ฟันธง 2 สาขาอาชีพมาแรง วิศวกรระบบ-นักวิเคราะห์ข้อมูล รองรับเอไอ-บิ๊กดาต้า

ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากปัจจัยลบที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจต้องให้น้ำหนักไปที่การปรับการบริหารกำลังคนแบบไม่ให้สูญเปล่า (lean manpower) รวมถึงต้องปรับ และเพิ่มทักษะพนักงาน เพราะการ lean คือ การที่แต่ละองค์กรจะใช้คนทำงานอย่างคุ้มค่า และทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง หากไม่ปรับตัวอาจทำให้การลาออกจากงานมีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบในอนาคต และเรื่องสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความแตกต่างตามเจเนอเรชั่น

นางสาวพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเฟล็คซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้หน่วยงานด้านบุคลากร หรือทรัพยากรมนุษย์ (เอชอาร์) ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องการคัดสรรหาคน พัฒนาคน และประเมินผลงาน นอกจากนั้นจะมีความท้าทายมากขึ้นในการจัดทัพคนให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ๆ องค์กรจะเปลี่ยนวิธีสรรหามาเป็นการสรรหาผ่านโซเชียลมีเดียแทน เช่น linkedin ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้ถูกจ้าง อีกทั้งจะได้เห็นภาพการทำงานแบบที่มีลำดับขั้นในองค์กรมาก ๆ (hierarchy) “น้อยลง” และเปลี่ยนมาเป็นการทำงานแบบ network organization ซึ่งหมายถึงการที่คนต่างตำแหน่งและต่างแผนกมาทำงานร่วมกันในหนึ่งโปรเจ็กต์ ซึ่งเมื่อการทำงานเปลี่ยนไป คนต้องเพิ่มทักษะด้านการทำงานเป็นทีม ทักษะความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของคน

นางสาวนิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล ผู้อำนวยการบริหาร สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หรือเอสอีเอซี (SEAC-South East Asia Center) กล่าวว่า นอกเหนือจากประสบการณ์ที่คนทำงานจะต้องมีแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วย คือ

1) ทักษะเรียนรู้ active learning skill ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพิ่มความถี่ในการปรับทักษะ

2) ทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิผลกับงานได้

3) ทักษะด้านความคิด เนื่องจากโลกของธุรกิจจะมีความซับซ้อน พร้อมกับมีข้อมูลมากขึ้น ทำให้คนทำงานจะต้องสามารถคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เมื่อเกิดปัญหาต้องมองให้เห็นครบทุกมิติที่เกิดขึ้น

และ 4) ทักษะด้านอารมณ์ (soft skills) ซึ่งทักษะทางอ้อมที่สร้างความโดดเด่นให้กับคนทำงาน ทำให้คนต่างจากเครื่องจักร เพราะเมื่อทุกองค์กรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกัน จะทำให้องค์กรหันกลับมองหาทักษะนี้มากขึ้น

ด้านนายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทยด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่า หลายองค์กรจะเปิดรับคนทำงานด้านวิศวกรระบบ (software engineer) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) มากขึ้นในปี 2563 เพราะช่วง 2-3 ปีก่อน หลาย ๆ องค์กรได้วางกลยุทธ์ในการนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนที่มีทักษะด้านนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่เรียนสาขานี้ยังจบออกมาไม่ทันความต้องการ ทำให้ในปี 2563 นี้ จะเห็นการซื้อตัวคนทำงานด้านนี้มากขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-407819


จำนวนผู้อ่าน: 2112

06 มกราคม 2020