ไม่ยุบอนาคตใหม่! ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง คดีล้มล้างการปกครอง

วันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำ ของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ

ในเวลา 12.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัย มีใจความสำคัญ บางตอนดังนี้

ศาลได้วินิจฉัยประเด็นเดียวคือ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ประกอบด้วย อนค., นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค เข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

เมื่อพิจารณาตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบที่ผู้ร้องอ้างถึงการออกข้อบังคับพรรค การจัดทำนโยบายพรรค และสัญลักลักษณ์ของพรรคว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ศาลเห็นว่าข้อบังคับพรรคเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต่อมานายทะเบียนพรรคการเมืองก็รับจดทะเบียนจดตั้งพรรค และได้รับการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

“ข้อบังคับพรรค ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” 

อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าข้อบังคับไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะรายงาน กกต. ให้เพิกถอนข้อบังคับได้…จึงไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานเพียงพอว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 ที่ระบุว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้

ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

ทั้งนี้ การยื่นคำร้องเป็นเพียงข้อห่วงในฐานะพลเมืองต่อสถาบันกษัตริย์และประเทศชาติเท่านั้น

ส่วนข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้คำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การใช้ถ้อยคำในข้อบังคับของพรรคควรให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ หรือแตกต่างจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติได้ พร้อมระบุว่า กกต. มีหน้าที่และอำนาจจะให้พิจารณาเพิกถอนข้อบังคับพรรคได้ตามกฎหมาย และสมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้แก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-412828


จำนวนผู้อ่าน: 2069

21 มกราคม 2020