“อนุทิน” แจง 15 มาตรการคุมเชื้อ “โควิด-19” เข้า-ออกประเทศไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติตเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวน 15 มาตรการ ดังนี้ มาตรการการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย

ประกอบด้วย 1.ให้ผู้เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง (ยังไม่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย) ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการด้านวิชาการภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด ถูกคุมไว้สังเกตตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน

2.พัฒนาระบบและกลไกการกักกันผู้ที่เป็นหรือผู้ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ณ ที่พำนักตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

3.กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง เช่น มีใบรับรองแพทย์ มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 100,000 USD มีที่พำนักที่สามารถติดต่อได้ในประเทศไทย หากไม่ปฏิบัติตามจะไม่สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ รวมทั้งคนไทยที่พำนักอาศัยต่างประเทศ ให้ชะลอการเดินทางกลับประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศจะดีขึ้น

4.ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นมีเหตุจำเป็นสำคัญและเตือนประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดต่อเนื่อง

นายอนุทินกล่าวว่า มาตรการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ประกอบด้วย 1.เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ (13-15 เมษายน) 2.ปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัดเบียดเสียด แบ่งออกเป็น ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย สำหรับสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ในพื้นที่กรุงเทพๆ และปริมณฑล

ปิดชั่วคราว 14 วัน สำหรับ ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.กำหนดมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4.งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบัน หรือปรับวิธีการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาดำเนินการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

5.งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นสำคัญ

6.งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก ได้แก่ ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หรือหากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ของโรค เช่น การตรวจคัดกรองคนก่อนเคลื่อนย้าย รวมถึงจำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว

7.ให้สถานที่ทำงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ลดความแออัด โดยเหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลาพักรับประทานอาหาร และจัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการเหลื่อมเวลาการทำงานและรายงานผลการปฏิบัติต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

8.ส่งเสริมให้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ประชุมทางไกลเพื่อให้บุคลากรทำงานที่บ้านทดแทนภาวะปกติประชุมทางไกลผู้ถือหุ้นของตลาดหลักทรัพย์ และส่งเสริมระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการซื้อขายออนไลน์สำหรับประชาชนทั่วไป โดยให้หน่วยราชการทุกหน่วยทำแผนการทำงานจากบ้านและรายงานผล

9.ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ ในสถานที่ที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ เช่น คัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การวางเจลล้างมือในจุดที่มีการใช้ร่วมกัน การทำความสะอาดพื้นผิวและห้องสุขา จำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการในแต่ละช่วงเวลา

10.ร้านค้า ร้านอาหาร ให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส ห้องสุขา การคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน การดูแลสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อของพนักงาน เช่น ใช้หน้ากากผ้า การจัดเจลล้างมือ การจัดการขยะ

11.ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อในระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ และเพิ่มความถี่ของการเดินรถ 12.ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากผ้าเมื่อเดินทางเข้าสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และเร่งผลิตหน้ากากผ้าให้เพียงพอ

13.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 35 เพื่อจำกัด ดูแล การเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด หรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการจำกัด พื้นที่เสี่ยงตามข้อมูลที่มีการแพร่ระบาด และแจ้งมาตรการที่จะดำเนินการต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) ทราบและให้ความเห็นชอบโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกวัน

14.ให้มีการกำหนดให้ชาวต่างประเทศ รวมทั้งคนไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้มีการใช้แอปพลิเคชั่น Application ติดตามตัว 

15.ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคในทุกอำเภอ เขต หมู่บ้าน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยด่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในการดำเนินการเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ การควบคุมการระบาดของโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวซ้อง ดำเนินการกักกัน คุมไว้สังเกต การปิดสถานที่ เลื่อนหรืองดกิจกรรม อันมีผลต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-433283


จำนวนผู้อ่าน: 1713

18 มีนาคม 2020