ล็อกน่านฟ้าทั่วโลก ! สายการบินกระอัก แห่หยุดบินระหว่างประเทศชั่วคราว ลดความถี่เที่ยวบินในประเทศ มีฝูงบินมากยิ่งเจ็บหนัก จับตาหลังวิกฤตบริษัทแอร์ไลน์ลดวูบ “ธรรศพลฐ์” นายใหญ่ไทยแอร์เอเชีย ยอมรับแบกต้นทุนอ่วมได้แค่ 6 เดือน “การบินไทย” วิกฤตหนัก รับภาระเดือนละ 1.15 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ชี้ต้องเร่งเพิ่มทุน วัดใจคลัง “อุ้ม” หรือ “ปล่อยล้ม”
แหล่งข่าวในธุรกิจสายการบินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงทั่วโลกทำให้ทุกประเทศใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” สกัดการแพร่ระบาด โดยห้ามคนต่างประเทศเดินทางเข้า-ออก รวมถึงห้ามคนในประเทศของตัวเองเดินทางออกนอกประเทศ หรือใช้มาตรการการคัดกรองอย่างเข้มเข้น ทำให้ทั่วโลกหยุดการเดินทาง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลกต้องหยุดการให้บริการชั่วคราว และน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากที่สุดสำหรับธุรกิจสายการบินทั่วโลก รวมถึงธุรกิจการบินในประเทศไทย
หยุดบินระหว่างประเทศ
ในส่วนของสายการบินของไทยพบว่าทุกบริษัทตกอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยสายการบินได้ทยอยประกาศยกเลิกเส้นทางบินระหว่างประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วยไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสมายล์, บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์, และไทยเวียตเจ็ท รวมถึงลดเส้นทางบินและความถี่สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศอีกหลายเส้นทางขณะที่สายการบิน “ไทยไลอ้อนแอร์”ได้ประกาศหยุดบินทั้งเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.นี้ โดยระบุว่า จะกลับมาให้บริการอีกครั้ง 1 พ.ค.นี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับ “การบินไทย” ได้แจ้งไปยังสถานฑูตไทยในต่างประเทศว่าจะหยุดให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศชั่วคราวเช่นกัน โดยจะยกเลิกบินเส้นทางยุโรปตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 พ.ค.นี้ และยกเลิกบินเส้นทางภูมิภาคทั้งหมดตั้งแต่ 25 มี.ค.-31 พ.ค.นี้
นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา จะมีการประกาศเรื่องการหยุดบินเส้นทางต่างประเทศทั้งหมด รวมถึงการให้พนักงานหยุดงาน และจ่ายเงินเดือน 75%
ค่ายใหญ่-ฝูงบินมากเจ็บหนัก
แหล่งข่าวในธุรกิจการบินอีกรายวิเคราะห์ว่า สายการบินที่มีฝูงบินและเส้นทางบินจำนวนมากจะเจ็บมาก เช่น กรณี “การบินไทย” จะได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากมีภาระต้นทุนเครื่องบินในปัจจุบัน 100 ลำ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานสูงมาก จากรายงานงบการเงินปี 2562 ระบุว่า การบินไทยมีต้นทุนดำเนินงาน (ไม่รวมค่าน้ำมัน) 1.37 แสนล้านบาท เฉลี่ยราว 1.15 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน
ขณะที่สายการบินไทยแอร์เอเชียปัจจุบันมีฝูงบินรวม 62 ลำ ปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศไปทั้งหมด 59 เส้นทางบิน ตั้งแต่ 22 มี.ค.-25 เม.ย. 2563 ขณะที่เส้นทางบินในประเทศก็ได้ปรับลดความถี่ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดหมุนเวียนลดน้อยลง ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานยังคงอยู่เหมือนเดิม
บางแอร์ไลน์อาจหายจากน่านฟ้า
แหล่งข่าวระบุว่า ธุรกิจการบินของไทยได้รับผลกระทบจากที่นักท่องเที่ยวจีนชะลอการเดินทางมาไทยจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตตั้งแต่กลางปี 2561 และปี 2562 ธุรกิจท่องเที่ยวไทยก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้สายการบินหลายแห่งขาดทุน เมื่อมาเจอกับวิกฤตไวรัสโควิดจึงทำให้สายการบินของไทยได้รับผลกระทบหนัก ทั้งเชื่อว่าหลังการแพร่ระบาดของไวรัสยุติอาจมีสายการบินบางแห่งไม่กลับมาทำการบินได้ตามปกติเหมือนเดิม
“สายการบินที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดขณะนี้คือสายการบินที่มีเน็ตเวิร์กการบิน และมีเครื่องบินในเครือข่ายจำนวนมาก อาทิ ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยเวียตเจ็ท เนื่องจากเครือข่ายการบินเหล่านี้มียอดคำสั่งซื้อฝูงบินใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะต้นทุนหลักของสายการบินคือเครื่องบิน” แหล่งข่าวกล่าว
“แอร์เอเชีย” รับไหวแค่ 6 เดือน
ด้านนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นแบบที่ทำอยู่เชื่อว่าน่าจะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ภายใน 2-3 เดือน หรือในเดือนมิถุนายนนี้ และใช้เวลาอีก 2-3 เดือน ในการปลุกตลาดฟื้นการท่องเที่ยว จึงคาดว่านักท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
“หลังการแพร่ระบาดยุติลง ผู้ประกอบการทุกรายจะกลับมาได้เต็มที่เหมือนเดิมหรือไม่ ไม่มีใครประเมินได้ เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ แต่ยอมรับว่าขณะนี้ทุกคนอ่อนแรงกันหมด อย่างของไทยแอร์เอเชียตอนนี้ปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งหมด เหลือเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ แต่เงินสดที่เข้ามาก็น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดยังคงอยู่เหมือนเดิม ทำให้กระแสเงินสดเราลดลงเรื่อย ๆ ถ้าทุกอย่างจบภายในมิถุนายนนี้เรายังพอรับไหว แต่ถ้าเกินจากนั้นเราก็คงรับไม่ไหวเหมือนกัน” นายธรรศพลฐ์กล่าวและว่า
ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียต้องใช้กระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ราว 1,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมทั้งกลุ่มประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อเดือน หากผลกระทบยาว 6 เดือน บริษัทต้องใช้กระแสเงินสดไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท
สายการบินเสี่ยงปิดกิจการ
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังภาครัฐของไทยประกาศนโยบายให้นักท่องเที่ยงต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องถือใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ รวมถึงต้องทำประกันไม่ต่ำกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ จากข้อมูลของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) พบว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหายไปถึง 75% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ถือว่าเป็นยาแรงในการป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาได้ง่าย ๆ
ทำให้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหลาย ๆ สายการบินเริ่มประกาศหยุดบินเส้นทางต่างประเทศ เช่น กรณี บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) หรือสายการบินแอร์เอเชียประกาศหยุดบิน 1 เดือน ขณะที่การบินกรุงเทพ (BA) หรือบางกอกแอร์เวย์สหยุดให้บริการชั่วคราว 6 เดือน ส่วนการบินไทย (THAI) ปัจจุบันยังไม่ประกาศหยุดบินชั่วคราว แต่เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้จะประกาศหยุดบินเช่นกันจนกว่าโรคระบาดจะคลี่คลาย
“โดยมีความเสี่ยงที่สายการบินในประเทศอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อเกินปี 2563 ซึ่งจะเห็นว่าหลังการระบาดทำให้มีสายการบินต่างประเทศประกาศปิดกิจการหรือยื่นล้มละลายกันแล้วหลายราย อย่างไรก็ตามธุรกิจสายการบินของไทยมีประสบการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว จึงมีการสำรองเงินไว้ในมือพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะสามารถประคองธุรกิจไปได้อีกราว 1 ปี”
บินไทยเสี่ยงสูงทุนเหลือน้อย
นายสุวัฒน์กล่าวว่า ถ้าไวรัสไม่จบ ทุกสายการบินก็มีความเสี่ยง สายการบินที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้ามา โดยเฉพาะการบินไทยที่ปัจจุบันสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเหลือน้อย ซึ่งหากปรับลดลงไปติดลบจะต้องมีการเพิ่มทุนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากปีที่ผ่านมาการบินไทยได้ขอมติผู้ถือหุ้นโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 2,691 ล้านบาท และสำรองส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวน 25,546 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 28,237 ล้านบาท เพื่อไปล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 26,374ล้านบาท ทำให้ผลขาดทุนสะสมยกมา ณ วันที่ 1 ม.ค. 2562 คงเหลือเป็นศูนย์ ขณะที่ส่วนเกินมูลค่าหุ้นคงเหลือเพียง 1,863 ล้านบาท ในส่วนของสายการบินนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เช่น สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งจากข้อมูลจากงบการเงินที่รายงานกระทรวงพาณิชย์จะเห็นได้ว่าขาดทุนหนักตั้งแต่เริ่มเข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย โดยสามารถประคองธุรกิจได้จากเงินกู้ของบริษัทแม่
วัดใจคลัง “เพิ่มทุน/ปล่อยล้ม”
ด้านนายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานทางบัญชี TFRS16 เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของธุรกิจสายการบินในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง AAV BA และ THAI โดยพบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) สิ้นปี 2562 ของทั้ง 3 บริษัทอยู่ที่ 0.3 เท่า 0.7 เท่า และ 10.7 เท่าตามลำดับ
“โดยเฉพาะการบินไทยพบว่ามีหนี้สินต่อทุนสูงสุด หรือมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้น 11,800 ล้านบาท รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (Net Debt to EBITDA) สูงถึง 36.4 เท่า ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะต้องเพิ่มทุนสูงสุด โดยขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างเพิ่มทุนหรือปล่อยล้ม” นายภาสกรกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากโควิด-19 ยุติลงได้ในปีนี้ ธุรกิจสายการบินอาจไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ รวมถึงยังมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงมาอยู่ระดับต่ำ ส่งผลบวกต่อต้นทุนของสายการบิน
ทั้งนี้จากงบการเงินของการบินไทยปี 2562 ระบุว่า บริษัทมีรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 244,899 ล้านบาท
ขอใช้อู่ตะเภาจอดเครื่องบิน
และจากที่สายการบินต่าง ๆ หยุดบิน ทำให้ต้องหาที่จอดเครื่องบินจำนวนมาก นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กพท.อยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับจากกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะหน่วยงานกำกับสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือสายการบิน 6 ข้อไปก่อนหน้านี้ เรื่องที่ยังต้องขอให้กองทัพเรืออนุญาตคือ มาตรการลดค่าใช้หลุมจอดภายในสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่จอดเครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ เป็นการชั่วคราว พร้อมลดค่าจอด 50%
“สายการบินที่จะขอใช้หลุมจอดในพื้นที่ดังกล่าวหากไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ สามารถติดต่อไปยังกรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในการขอใช้หลุมจอดในสนามบินต่าง ๆ แทนได้ เพราะทั้ง 2 หน่วยงานได้ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว”
ด้านนายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า ตัวเลขไฟลต์บินในประเทศ ขณะนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 2,900 เที่ยวบิน/วัน เหลือเพียง 1,200-1,400 เที่ยวบิน/วัน หรือลดลง 50% สำหรับมาตรการที่ บวท.ช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินคือ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศลง 50% ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2563
ยกเลิกแล้ว 3.2 หมื่นเที่ยวบิน
รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยอย่างรุนแรง ทำให้ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งคือ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, แม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ภูเก็ต, หาดใหญ่ (สงขลา) ได้รับผลกระทบจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-28 มี.ค. 2563 มีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินและแจ้งยกเลิกทำการบินล่วงหน้ารวม 32,991 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 26,648 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 6,343 เที่ยวบินคาดว่าจะส่งผลให้ ทอท.ได้รับผลกระทบในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมการขึ้น-ลงอากาศยาน (landing charges) ลดลง 20.69% และค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินลดลง 32.94% หรือมีรายได้ในช่วงระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.2 563 ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ยังไม่รวมส่วนที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (non aero)
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-437945
จำนวนผู้อ่าน: 1908
26 มีนาคม 2020