กรมชลฯ เตือนรับมือพายุฤดูร้อน 1-4 เม.ย.นี้

กรมชลประทานสั่งทุกโครงการชลประทานทุกแห่ง ประชาชน เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 10 เม.ย. และ 25 – 29 เม.ย. จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง กำชับวางมาตรการในการป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ โดยการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 (46/2563) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 – 4 เมษายน 2563)” ในช่วงวันที่ 1 – 4 เมษายน 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่ากับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนของประเทศไทย โดยรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนืออ่างฯได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำเก็บกักที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าแม้ในระยะที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้างในหลายพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งหากเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมคาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนจะมีฝนตกลงทางตอนบนของประเทศ คาดว่าจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งบรรเทาเบาบางลงไปได้บ้าง นอกจากนี้ ในช่วงวันที่ 7 – 10 เม.ย. และ 25 – 29  เมษายนนี้ จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ โดยการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที สำหรับใช้ในการเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะไม่กระทบต่อแผนการใช้น้ำที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน ให้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-440811

 


จำนวนผู้อ่าน: 1662

31 มีนาคม 2020