กรีนเอ็นเนอร์ยี่ออฟติงส์ เปิดบ้านซื้อขายไฟฟ้า

“เอ็นเนอร์ยี่ติงส์” สตาร์ทอัพในเครือเอ็นเซิร์ฟ กรุ๊ป สร้างมิติใหม่การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสมัยใหม่ ทั้งภายในบ้านและอาคารสำนักงาน ขานรับกระแสความแรงของอุตสาหกรรมโซลาร์รูฟท็อป

ครั้งแรกในไทยกับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าทดแทนระหว่างผู้ใช้ด้วยกันเองโดยตรงผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนและการชำระเงินโดยอัตโนมัติด้วยสกุลเงินบนโลกดิจิทัลอย่างบิตคอยน์


“เอ็นเนอร์ยี่ติงส์” สตาร์ทอัพในเครือเอ็นเซิร์ฟ กรุ๊ป สร้างมิติใหม่การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสมัยใหม่ ทั้งภายในบ้านและอาคารสำนักงาน ขานรับกระแสความแรงของอุตสาหกรรมโซลาร์รูฟท็อป หวังสร้างเครือข่ายพลังงานโซลาร์เซลล์ นำร่องประเทศไทยก่อนไปออสเตรเลีย เกาหลีและยุโรป

 

 


ธุรกิจพลังงานสะอาด


โมเดลธุรกิจของเอ็นเนอร์ยี่ติงส์ คือ การแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดที่ผลิตได้อย่างอิสระ ไม่ผ่านตัวกลาง หรือสามารถขายให้กับเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในระบบได้โดยตรง ขณะที่เป้าหมายหลักของบริษัท คือ การสร้างโครงข่ายผู้ใช้พลังงานสะอาดโดยมีทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตกระจายอยู่ทั่วประเทศ


"สภาพภูมิอากาศของไทยเหมาะลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ทั้งยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้อย่างดีในกรณีฉุกเฉินสายไฟเกิดขาดและไม่สามารถรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้หากมีการผลิตมากเกินที่จะใช้ก็ยังสามารถขายให้การไฟฟ้าในราคาที่ดีอีกด้วย” ฉันทกร จำศิลป์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ติงส์ จำกัด กล่าว


ทีมงานยังพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทำหน้าที่บันทึกและแสดงข้อมูลสถานการณ์หน่วยไฟฟ้าในเครือข่ายแบบ Near real-time รวมถึงปริมาณการแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดจากเพื่อนสมาชิก ข้อมูลจะถูกอัพเดทอัตโนมัติภายในระยะเวลาอันสั้น ผู้ใช้สามารถใช้แอพพลิเคชันควบคุมระบบทุกอย่าง รวมทั้งเลือกจำนวนหน่วยไฟฟ้าและเวลาในการซื้อขายได้ตามใจชอบ


ฉันทกร อธิบายเพิ่มว่า ระบบนี้ผู้บริโภคจะสามารถขายไฟฟ้าให้กันเองได้ โดยจะมีอุปกรณ์ที่เป็น Power Control เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ ณ เวลาขณะนั้น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใดขายราคาต่ำสุด ทำให้สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อไฟจากรายใด เป็นการซื้อขายไฟฟ้าสองทาง จากเดิมผู้บริโภคต้องซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตทางเดียว ในอนาคตบริษัทจะขยายไปทำตลาดออสเตรเลีย เกาหลีและยุโรปด้วย
อีกหนึ่งกลไกสำคัญของธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระดับครัวเรือน คือ หน่วยกักเก็บพลังงานสำรองหรือแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นฝีมือการคิดค้นพัฒนาและออกแบบโดยวิศวกรและนักออกแบบผลิตภัณฑ์คนไทย


แบตเตอรี่ระบบระบบ BMS (Battery Management System) สามารถควบคุมการอัดประจุแบบ CC/Cv ในแต่ละเซลล์ของแบตเตอรี่ เพื่อปรับเซลล์ที่มีความต่างศักย์เท่ากัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น และมีอายุการในงานนานขึ้น
บริษัทได้พัฒนาแบตเตอรี่ขนาดเล็กสำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้าภายในบ้าน 2 สองรุ่น 3.2 และ 4.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง ให้มีรูปทรงสวยงามและฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถแสดงผลสถานะของอุปกรณ์แบบที่เข้าใจได้ง่าย


สร้างเครือข่ายพลังมด


ที่ผ่านมา การบริหารจัดการจะส่งไฟฟ้ามาจากหน่วยงานด้านการไฟฟ้า ส่งผ่านสายส่งไปยังผู้บริโภค ขณะที่เครือข่ายเอ็นเนอร์ยี่ติงส์นั้น ผู้บริโภคสามารถเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทดแทนได้เองในรูปแบบใดก็ได้ทั้ง แสงแดด ลมหรืออื่นๆ เอ็นเนอร์ยี่ติงส์ เปรียบเสมือนกรีนเอ็นเนอร์ยี่ออฟติงส์ (Green Energy of Things) เชื่อมโยงระบบไมโครกริดย่อยๆ ภายในบ้านเข้าสู่โครงข่ายพลังงานของเครือข่ายสมาชิก ซึ่งจะได้รับการติดต่อนัดหมายจากวิศวกรเพื่อเข้าตรวจสอบ ออกแบบและติดตั้งระบบที่เหมาะกับลักษณะของอาคาร รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการนำระบบขึ้นใช้งาน


ทั้งนี้ บริษัทจะสนับสนุนการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด ส่วนผลตอบแทนจากการซื้อขายพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้น จะแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของบ้านกับบริษัท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดถึงสัดส่วนในแต่ละราย ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างแตกต่างกัน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการกรีนเอ็นเนอร์ยี่ออฟติงส์ ในกรณีบ้านพักอาศัยควรจะมีค่าไฟอย่างน้อย 5,000 บาทต่อเดือน บริษัทจะลงทุน 1 ล้านบาทติดตั้งอุปกรณ์ ส่วนออฟฟิศควรจะมีค่าไฟอย่างน้อย 1 แสนบาทต่อเดือน บริษัทจะลงทุน 2-3 ล้านบาทติดตั้งอุปกรณ์ คาดว่าเบื้องต้นใช้งบ 5-10 ล้านบาทจากงบรวม 100 ล้านบาท ใช้เวลา 5-10 ปีคืนทุน โดยจะเปิดรับสมาชิกเข้าร่วมเครือข่ายได้อย่างเป็นทางการในปี 2561

 

ที่มาข่าวสาร : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 1877

23 พฤศจิกายน 2017